ธนาคารโลกลดอันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจของ ไทยลงไปอยู่ที่อันดับ 49 ระบุดัชนีชี้วัดหลายตัวร่วง อาทิการยื่นจัดตั้งธุรกิจใหม่ช้า เอสเอ็มอีมีปัญหา ด้านไทยเร่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมเอื้อการทำธุรกิจ หวังปีหน้าอันดับขยับดีขึ้น เพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุน
นายอูริค ซาเกาผู้อำนวยการธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นำเสนอรายงาน Doing Business 2016 เพื่อเปิดเผยผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ด้วยการจัดให้ไทยหล่นไปอยู่อันดับ 49 จากอันดับเดิม 47 จากทั้งหมด 189 ประเทศ ขณะที่สิงคโปร์อันดับ 1 ของโลก เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อันดับ 5 ไต้หวัน 11 มาเลเซีย 18 ขณะที่ จีน 84 อินโดนีเซีย 109 ฟิลิปปินส์ 103
ทั้งนี้ เนื่องจากตัวชี้วัดส่วนใหญ่ของไทยลดลง ขั้นตอนความสะดวกการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การเข้าถึงข้อมูลเครดิตลูกค้าของสถาบันการเงินของไทยได้คะแนน 0 การขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจไทยยังใช้เวลามากกว่า 20 วัน ขณะที่ประเทศอื่นใช้เวลาลดลงแล้ว การขอใบอนุญาตการก่อสร้าง กระบวนการยุติธรรมของเอสเอ็มอีเมื่อมีปัญหายังใช้เวลานานและไม่แน่ใจว่าจะได้รับความยุติธรรม จึงยังไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
สำหรับอันดับของไทยปรับลดลงเนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคนี้เร่งปฏิรูปหลายด้าน จึงทำให้อันดับของประเทศอื่นขยับเพิ่มขึ้น เช่น อินโดนีเซียได้นำระบบการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม และอำนวยความสะดวกการชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ เวียดนาม ผู้ขอเงินกู้สามารถตรวจสอบเครดิตของตนเองได้ธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามจึงขอกู้ง่ายขึ้นเพราะสถาบันการเงินประเมินข้อมูลสะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไทยยังติดอันดับ 50 ประเทศแรก ที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของประเทศอาเซียน โดยไทยยังมีโอกาสปรับปรุงสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ เช่น การปรับปรุงตัวชี้วัดด้านบริหารจัดการที่ดิน เพื่อนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบฐานข้อมูลที่ดินเพื่อสะดวกในการสืบค้นยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งได้มีความก้าวหน้าในการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจังช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นางวรรณา เทพหัสดิน ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบราชการ ก.พ.ร. กล่าวว่าการรายงานผลวิจัยประเทศที่มีความสามารถในการเข้าไปประกอบธุรกิจล่วงหน้า 1 ปีผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน โดยปีนี้มีการปรับปรุงวิธีการวัดผล ทั้งด้านประสิทธิภาพของกฎระเบียบบริการด้านธุรกิจของภาครัฐ กระบวนการให้บริการต่างๆ และการวัดด้านการขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การบังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อตกลง และการประกาศครั้งนี้การขออนุญาตการก่อสร้างของไทยยังดีขึ้นจากอันดับ 47 ขึ้นมาเป็นอันดับ 39 เพราะใช้เวลาดำเนินการลดลงจาก 113 วัน ลดเหลือ 103 วัน
ขณะนี้รัฐบาลลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 20% เป็นการถาวร การลดภาษีให้เอสเอ็มอีเหลือ 10% สำหรับการร่วมลงทุน และยกเว้นภาษีเงินปันผลของเอสเอ็มอี การลดค่าธรรมเนียมการโอน ยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ทำไปแล้ว แต่ช้ากว่าการวัดผลของธนาคารโลก โดยวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เตรียมประกาศมาตรการระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน จากนั้นวันที่ 16 พฤศจิกายน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมส่วนราชการและเอกชนร่วมกันจัดทำตามแผนที่ประกาศไว้ เพื่อจัดทำศูนย์บริการ ณ จุดเดียวของหน่วยงานรัฐในการให้บริการจุดเดียว จึงคาดว่าอันดับจะดีขึ้นในปีหน้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมเสนอร่างกฎหมายการกระชับขั้นตอนและกระบวนการดำเนินคดี และผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนี้ยังได้นำแอพพลิเคชั่นมาใช้กับการค้นหาสินทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อนำเงินคืนเจ้าหนี้รวดเร็วขึ้น และยังเตรียมเปิดให้ประมูลแบบ E-Auction จะเริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และยังได้ใช้ระบบ E-Payment มาใช้ในการขายทอดตลาด และยังเตรียมเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับเอสเอ็มอี จึงคาดว่าจะทำให้การประเมินผลปีหน้าปรับดีขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี