“เศรษฐพงค์” ไม่รู้สึกเป็นกังวลที่ผู้ชนะ 4G ยังไม่มาชำระค่าใบอนุญาต เพราะเข้าใจสถาบันทางการเงินก็มีการเข้มงวดในการปล่อย แต่เชื่อในท้ายที่สุดทุกอย่างจะเรียบร้อย “ฐากร”ระบุในปี’60 มีแนวโน้มว่า กสทช.จะเปิดประมูลย่าน 2300-2600 เมกะเฮิรตซ์ รอเพียงขั้นตอนกฎหมาย ชี้การลงทุน 4G ทำเศรษฐกิจคึกคัก
พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) 4G บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz) ทั้ง 2 ราย ประกอบด้วย บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด(ทียูซี) และ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ยังไม่ได้เดินทางมาจ่ายค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์ การันตี) ในส่วนของเงินที่เหลือ แต่ในส่วนตัวแล้วก็ไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลแต่อย่างใดเพราะเข้าใจว่าสถาบันทางการเงินก็มีการเข้มงวดในการออกกู้แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุดทุกอย่างจะเรียบร้อย
แหล่งข่าวจากกสทช.ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลทั้งสองรายยังมีสิทธิที่จะชำระเงินดังกล่าวภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบในวันที่ 21 มี.ค. 2559
โดยที่ผ่านมาสถาบันทางการเงินบางแห่งมีการขอเอกสารมายังกสทช.ถึงโรดแมปในการจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ในย่านอื่นของกสทช.ว่ามีตารางการประมูลความถี่อย่างไรเพราะสถาบันการเงินจะต้องประชุมหารือว่าจะอนุมัติวงเงินกู้ในลอตต่อๆ ไปอย่างไร
ทั้งนี้หากในอนาคตสำนักงานกสทช.มีการเปิดประมูลรอบใหม่อีกจะพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้อย่างไร จึงอาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้สถาบันทางการเงินบางแห่งที่ทั้งสองบริษัทยื่นขอแบงก์การันตี กำลังพิจารณาอย่างหนัก เพราะบางรายมีกระแสเงินสดอยู่ในเกณฑ์ต่ำบวกกับมีภาระหนี้สินคงค้างจำนวนมากประกอบกับในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีการลงทุนจำนวนมากทั้งค่าใบอนุญาตและการสร้างโครงข่ายจึงอาจเป็นต้นทุนที่ทำให้เอกชนไม่สามารถประกอบธุรกิจได้
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์เคยมีบทเรียนธุรกิจดิจิทัลทีวีที่ธนาคารได้ปล่อยกู้ไปแล้วบางรายไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในการปล่อยกู้ให้กับผู้ชนะประมูล 4G
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ชี้แจงโรดแมปของกสทช.ในการจัดสรรคลื่นว่า กสทช.ประเมินว่าการจัดประมูลคลื่นที่ได้รับคืนจาก กรมประชาสัมพันธ์ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะเสนอเป็นแผนประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคมในช่วงปีนี้ และปี 2560 ได้แก่ คลื่น 2300 2600 MHz จำนวน 4 ใบอนุญาต
สำหรับคลื่นย่านความถี่ 2600 นั้น ปัจจุบันถือครองโดยกรมประชาสัมพันธ์ และอสมท ซึ่งขณะนี้กสทช.เจรจาตกลงเบื้องต้นแล้วทั้งสองหน่วยงานยินดีคืนให้จำนวน 40 MHz เพื่อให้ไปประมูลแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz ส่วนในย่านความถี่ 2300 นั้นอยู่ในครอบครองของทีโอทีแต่ก็คาดว่าไม่มีปัญหาอะไรในการเรียกคืนความถี่มาจัดสรรใหม่
ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนขยายโครงข่าย 4G ในช่วง 2 ปีนี้คือ 2559-2561 น่าจะมีเม็ดเงิน272,284 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.62% ของจีดีพีแบ่งเป็นมูลค่าเพิ่มจากการประมูล 9,750 ล้านบาทลงทุนโครงข่าย อุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้อง 67,500 ล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางอ้อมจากการใช้งานบริการต่างๆ 195,034 ล้านบาท
นายฐากรกล่าวถึงการเรียกคืนความถี่มาจัดสรรใหม่ กสทช.ต้องมีมาตรการเยียวยาให้หน่วยงานดังกล่าวด้วยซึ่งขณะนี้กฎหมายใหม่ของกสทช.อยู่ในขั้นตอนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) และยื่นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาหากกฎหมายผ่านจะทำให้กสทช.มีอำนาจเยียวยา หรือชดเชยค่าคลื่นได้
ทั้งนี้ในส่วนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของทีโอทีจำนวน 40 MHz ก็ต้องมีมาตรการเยียวยาเช่นเดียวกัน ซึ่งกสทช.มั่นใจว่า ทีโอทียินดีคืนคลื่น 40 MHz และสามารถนำไปประมูล 2 ใบอนุญาตใบอนุญาตละ 20 MHz สรุปคลื่นความถี่ 2600 และ 2300 MHz จะเปิดประมูลทั้งหมด 4 ใบอนุญาตได้ในช่วงปี 2560
ส่วนในปี 2561 จะมีคลื่นความถี่ 1800 MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)สิ้นสุดลงอีก 45 MHz
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี