อุตฯวางแผนรับมือล่วงหน้า เพื่อกำจัดซากแผงโซลาร์เซลล์ โดยปัจจุบันมีสะสมแล้ว 12.9 ล้านแผง หนักกว่า 3.88 แสนตัน
เริ่มเสื่อมชำรุด เล็งศึกษาตั้งโรงงานกำจัด ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ เสนอขอใช้งบฯ 6,000 ล้านบาท สนับสนุนหน่วยงานราชการติดตั้งแผง “โซลาร์ รูฟท็อป”
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนกำจัดซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : เซลล์แสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์เซลล์) อย่างเป็นระบบ เนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ฯของประชาชนเพิ่มขึ้น จากราคาแผงที่เริ่มปรับลดลง และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนราชการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า
ขณะที่ กรมได้คาดการณ์ปริมาณซากแผงโซลาร์ฯ สะสมตั้งแต่ปี 2545-2559 อยู่ที่ 388,347 ตัน หรือคิดเป็น 12.9 ล้านแผง และปริมาณซากสะสมถึงปี 2563 จะอยู่ที่ 551,684 ตัน หรือ 18.38 ล้านแผง ซึ่งต้องทยอยกำจัดซากในอนาคต เพราะแต่ละแผงจะมีอายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี
“ตอนนี้ยังมีแผงโซลาร์ฯ ที่ต้องกำจัดไม่มาก เพราะอายุใช้งานส่วนใหญ่นานถึง20-25 ปี เช่น ติดตั้งปี 2545 จะต้องกำจัดซากในปี 2570 แต่ตอนนี้ก็มีแผงโซลาร์ฯ ที่เสียออกมาบ้าง โดยใช้วิธีการกำจัดซาก นำไปแยกชิ้นส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ประมาณ 50% เช่น แก้ว แผงวงจร ส่วนอีก 50% จะนำไปบด แล้วใส่น้ำยาเฉพาะ ก่อนนำไปฝังกลบ แต่หลังจากแนวโน้มคนนิยมติดตั้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องทำแผนอย่างเป็นระบบ ส่วนหนึ่งกำลังพิจารณาข้อมูลทางวิชาการอยู่ว่า ควรตั้งโรงงานรีไซเคิลและกำจัดแผงโซลาร์ฯ โดยเฉพาะขึ้นมาเลยหรือไม่ โดยตั้งเป้าว่า จะต้องนำเศษซากชิ้นส่วนออกมารีไซเคิลให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% จากปัจจุบัน 50% ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่าในปัจจุบัน จึงต้องพิจารณาว่า คุ้มทุนหรือไม่”นายมงคลกล่าว
อย่างไรก็ดีในปี 2558 ที่ผ่านมากรม ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดทำร่างแผนแม่บทการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ :เซลล์แสงอาทิตย์ โดยกรมจะนำผลการศึกษาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.เตรียมใช้เงินกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 6,000 ล้านบาท สนับสนุนหน่วยราชการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน รวมถึงโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ตามนโยบายพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย โดย พพ. อยู่ระหว่างออกหลักเกณฑ์การขอใช้งบประมาณดังกล่าว คาดว่า แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ และคาดว่าจะประกาศเปิดให้ร่วมโครงการได้ในเดือน ธันวาคม 2559 นี้
สำหรับหลักเกณฑ์เบื้องต้นจะกำหนดให้หน่วยงานละไม่เกิน 50 ล้านบาท และต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่เคยได้รับงบการสนับสนุนงบในลักษณะดังกล่าวมาก่อนด้วย โดยคาดว่า งบ 6,000 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอที่จะช่วยดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองสำหรับหน่วยงานรัฐ จึงเตรียมไปหารือกับสำนักงบประมาณ เพื่อให้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อไปถ้าหน่วยงานรัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ ต้องการติดโซลาร์รูฟท็อป และมีเงินจากสำนักงบประมาณแล้ว ก็สามารถติดตั้งได้สะดวก เพียงแค่จ้างที่ปรึกษาให้ดำเนินการ
มีรายงานแจ้งว่า สำหรับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ปัจจุบันยังพบว่ามี ขยะจากอุปกรณ์ไฟฟ้า มือถือ ชิ้นส่วน ฯลฯ ถูกทิ้งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมากอีกด้วย ขยะเหล่านี้หากจำกัดไม่ถูกวิธีจะมีปัญหาในเรื่องของมลพิษด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี