จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ตามประกาศเลขที่ คน.1/213/2558 ลงวันที่ 15 มิ.ย.2558 ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 4 หมื่นล้านบาท เป็นลักษณะสัมปทาน 20 ปี เอกชนได้รับผลตอบแทน 1.6 พันล้านบาทต่อปี และ ร.ฟ.ท. ได้ผลตอบแทน 500 ล้านบาทต่อปี โดยใช้วิธีเปิดซองพิจารณาทีละหลักเกณฑ์ ได้แก่ 1.คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ 2.ข้อเสนอด้านเทคนิค และ 3.ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ซึ่งมีเอกชนเข้าร่วม 3 ราย และทั้ง 3 รายผ่านเกณฑ์ข้อที่ 1 แล้ว แต่ ร.ฟ.ท. กลับเลื่อนกำหนดการพิจารณาหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2559 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 ร.ฟ.ท. ออกหนังสือประกาศคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อดำเนินการสรรหาเอกชนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เรื่อง ประกาศผลการพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนที่ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค ตามประกาศเชิญชวนผู้ยื่นข้อเสนอ "ร่วมลงทุน" โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ฉบับเลขที่ คน.1/213/2558 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2558
โดยมีใจความว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค (หลักเกณฑ์ในข้อที่ 2) แล้วพบว่ามีผู้ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80 และคะแนนเป็นรายหัวข้อมากกว่า 50 คะแนนขึ้นไป เพียงรายเดียว คือ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) และให้เอกชนรายดังกล่าว เข้าฟังการเปิดซองพิจารณาในหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 (ข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ) ในวันที่ 11 ม.ค. 2560 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมปฏิบัติการรถไฟ ชั้น 3 ตึกบัญชาการรถไฟฯ
ทั้งนี้หลังมีประกาศดังกล่าว ผู้ประกอบการอีก 2 รายที่ร่วมยื่นข้อเสนอเข้าแข่งขันครั้งนี้ และผ่านการพิจารณาในหลักเกณฑ์ข้อที่ 1 (คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ) เช่นเดียวกัน คือ บริษัท คอนเทนเนอร์ ดีโป้ กรุงเทพ จำกัด กับ กิจการร่วมค้า อาร์ ซี แอล แอนด์ แอทโซซิเอทส์ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอให้มีผู้ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเพียงรายเดียว และให้ถือว่าเป็นผู้ชนะการยื่นซองในโครงการนี้ทันที โดยไม่คำนึงถึงข้อเสนอการคิดอัตราค่าบริการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อส่วนรวม
เนื่องจากก่อนหน้านี้ วันที่ 19 ก.ย. 2559 ร.ฟ.ท.ได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ 1.ถ้ามีเอกชนผ่านหลักเกณฑ์ข้อ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) เพียงรายเดียว จะถือว่าเข้าข่ายมีผู้เสนอรายเดียวตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 39 หรือไม่ 2.หลักเกณฑ์ที่ ร.ฟ.ท.ตั้ง อันมีสาระสำคัญคือให้เอกชนชำระผลตอบแทนต่อ ร.ฟ.ท.ในอัตราคงที่โดยปรับเพิ่มทุก 5 ปีตลอดอายุสัญญา และจะคัดเลือกจากเอกชนที่คิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการต่ำที่สุด
อันจะทำให้ได้ประโยชน์ทั้งกับรัฐและผู้ใช้บริการ แทนที่จะเน้นการให้เอกชนเสมอผลตอบแทนสูงสุดกับรัฐเป็นหลัก จะเข้าข่ายเงื่อนไขข้อ 4.(8) ของประกาศสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง รายละเอียดประกาศเชิญชวนเอกสารข้อเสนอการร่วมทุน วิธีการประกาศเชิญชวน วิธีการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก การกำหนดหลักประกันซองและหลักประกันสัญญา พ.ศ.2558 หรือไม่
และ 3.หากมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ข้อ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) เพียงรายเดียว ยังสามารถพิจารณาประเด็นที่ว่ารัฐจะได้ประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 มาตรา 39 ได้อีกหรือไม่ ถ้าสามารถพิจารณาได้ควรพิจารณาหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไร
ต่อมาในเดือน ต.ค. 2559 สคร.มีหนังสือตอบใน 3 ประเด็นดังกล่าวว่า 1.ไม่ว่ามีผู้เสนอเพียงรายเดียวหรือหลายรายก็ตาม ให้พิจารณาว่าผู้ยื่นข้อเสนอมีเอกสารถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากถูกต้องครบถ้วนและคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่ารัฐจะได้ประโยชน์ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้
2.คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 36 (1) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอในแง่ของผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับทั้งในรูปของตัวเงินและประโยชน์อื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประกาศ สคร. อนึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ควรมุ่งเน้นให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ด้วย และ 3.ในกรณีมีผู้ผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว สคร. ก็ให้หลักเกณฑ์พิจารณาไว้ข้างต้น
ทั้งนี้เมื่อ ร.ฟ.ท. ออกประกาศดังกล่าว ซึ่งมี นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือก เป็นผู้ลงนาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่มีการให้อธิบายหรือให้เหตุผลว่า บริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณามีข้อบกพร่องอย่างไร และเหตุใดถึงปล่อยให้มีผู้ผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์ข้อที่ 2 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาหลักเกณฑ์ข้อที่ 3 เพียงรายเดียว
เพราะจะไม่มีใครรู้ว่า บริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์ในข้อที่ 2 นั้น ได้เสนอราคาค่าบริการไว้เท่าไหร่ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะสูงหรือต่ำกว่า บริษัทที่ผ่านการพิจารณาเพียงบริษัทเดียวก็เป็นไปได้ ที่สำคัญ หลักเกณฑ์ในการเก็บเงินค่าบริการทั้งหมด ที่บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลใส่เอาไว้ในซองที่ 3 สมควรที่จะเป็นข้อมูลที่ประชาชนควรจะได้มีโอกาสรับรู้
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า บริษัทที่ไม่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิค เตรียมที่จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ใน เร็วๆ นี้
หมายเหตุ : อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง (ลือกระหึ่มรฟท.!วิ่งเต้นโครงการบรรจุ-แยกสินค้า) ได้ที่นี่ http://www.naewna.com/business/248091
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี