“3 ค่าย”พร้อมใจเท ไม่ร่วมประมูลคลื่น 1800 อ้างเหตุหลักเกณฑ์ไม่เหมาะสม-คลื่นในมือเพียงพอ “ดีแทค” ยันไม่มี “ซิมดับ” หลังสัมปทานคลื่นสิ้นสุด 15 ก.ย.นี้ “กสทช.”ฉุนเตรียมล้มมาตรการเยียวยา ซัด “ดีแทค” อย่าหวังได้คลื่นไปใช้ฟรีๆ ขู่อย่าฝันไกลมีคลื่นในมือเพียงพอ ลั่นจะทำให้ไม่พอเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันกำหนดเปิดยื่นซองแสดงความจำนงเข้าประมูล 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz สำหรับการให้บริการ 4G ที่จะเปิดในวันที่ 4 สิงหาคม 2561 นี้
1800คลื่นร้าง!!3ค่ายพร้อมใจเท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ก่อนหน้านี้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักของไทย จะแสดงความสนใจโดยเข้ารับเอกสารการประมูลครบทั้ง 3 ราย โดยกลุ่มเอไอเอส รับไป 2 ชุด ในนามบริษัท เอไอเอส และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN), กลุ่มบริษัท แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค รับไป 2 ชุดในนาม บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และ บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด (DBB) ส่วนกลุ่ม TRUE รับไป 1 ชุด ในนาม บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
แต่ท้ายที่สุดปรากฏว่า ไม่มีผู้ให้บริการมายื่นซองแสดงความจำนงเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz แม้แต่รายเดียว
“ดีแทค”อ้างมีคลื่นพอ-เงื่อนไขประมูลไม่เอื้อ
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประมูล เนื่องจากถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) ในปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต รวมทั้งมองว่าหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ดีแทค ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว
การันตีไม่มีปัญหา“ซิมดับ”แน่นอน
พร้อมกันนี้ได้ให้การยืนยันว่า การให้บริการของดีแทคจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และจะไม่เกิดเหตุการณ์ “ซิมดับ” ดันเนื่องมาจากการหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz อย่างแน่นอน โดยก่อนหน้านี้ดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ต่อ กสทช. ไปแล้วเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
(อ่านรายละเอียดข่าว : 'ดีแทค' ประกาศไม่ร่วมประมูลคลื่น 1800 รับประกันไร้ปัญหา 'ซิมดับ' หลังหมดสัมปทาน)
“เอไอเอส”ชี้เงื่อนไขประมูลไม่เหมาะสม
วันเดียวกัน “เอไอเอส” ก็ได้ออกมาประกาศเช่นกันว่า จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลไม่เหมาะสมต่อการลงทุน และได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า ปัจจุบันเอไอเอสมีจำนวนคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการบริการลูกค้า รวมถึงสามารถรองรับลูกค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตได้อีกด้วย (อ่านรายละเอียด: คลื่นร้าง!!! 'เอไอเอส'ถอนอีกราย ประกาศเทไม่ประมูลสัญญาณ 1800 MHz)
ขณะที่ในส่วนของกลุ่ม TRUE นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการออกมาประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมาแล้วว่า จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz แน่นอน โดยให้เหตุผลลักษณะเดียวกับผู้ให้บริการอีก 2 ราย คือ เนื่องจากปริมาณคลื่นความถี่ในมือยังมีมากเพียงพอ และเงื่อนไขการประมูลทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่างๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียด : ทรูไม่ประมูลคลื่น ปูทาง‘ดีแทค-เอไอเอส’แค่2รายชิงดำ)
“กสทช.”ขู่ไม่เยียวยาลูกค้าดีแทค
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การที่ไม่มีใครมายื่นประมูล แม้แต่ดีแทคเองที่จะต้องได้รับผลประทบมากที่สุด เพราะสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz เดิมที่มีอยู่จะหมดลงในวันที่ 15 กันยายน โดยมีลูกค้าอยู่ในระบบถึง 4.7 แสนเลขหมาย ก็ยังไม่ให้ความสนใจ เพราะหวังเข้าสู่มาตรการเยียวยาคลื่น ซึ่ง กสทช. ต้องบอกว่า หลักการของเยียวยาตามประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 จะต้องเกิดจากการที่ กสทช. จัดประมูลไม่ทัน แต่กรณีนี้ คือ ไม่มีคนเข้าประมูล ดังนั้น กสทช.จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยาดังกล่าว
ส่วนอีก 2 ราย คือเอไอเอส และ ทรู เขาติดปัญหาเงินลงทุน 5G ไม่พอ หากต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นก้อนใหญ่โดยไม่สามารถขยายการชำระเงินค่าประมูลได้
ขอเวลาหาทางออกภายใน10ก.ค.
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าตนจึงได้รายงานถึงผู้ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เพื่อเตรียมเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากอะไร โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาภายในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ โดยจะนำเข้าที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 27 มิถุนายน และเสนอให้รัฐบาลหาทางออก ทางไหนหาทางออกได้เร็วที่สุด ก็จะเลือกทางนั้นเพื่อให้มีการประมูลภายในปีนี้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องรอไปถึงปีหน้า
ขู่จะทำให้คลื่น“ดีแทค”ไม่เพียงพอเอง
นายฐากร กล่าวต่อว่า การที่ดีแทค อ้างว่ามีคลื่นเพียงพอ แต่เมื่อไม่มีมาตรการเยียวยา คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ของดีแทคก็จะไม่มี ดีแทคจะเหลือแค่คลื่น 2100 MHz และ2300 MHz ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะไม่มีคลื่น1800 MHz ในการส่งให้ทั้งสองคลื่นทำงานได้ โดยเฉพาะคลื่น 2300 MHz ดีแทคก็ไม่สามารถใช้งานด้านเสียงได้
“ใครที่ฝันไม่ไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่าราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่ เอไอเอส และ ทรูจ่ายเงินมา 75% แล้ว กสทช.ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่หากให้แก้หลักเกณฑ์เป็น 9 ใบ ตรงนี้ ทำได้” นายฐากร กล่าว
โวยอย่าหวังมาใช้คลื่นฟรีๆ
ด้าน พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกสทช. กล่าวว่า ในครั้งที่แล้วที่ กสทช.ออกมาตรการเยียวยา เพราะลูกค้าอยู่ในระบบ จำนวนมากและ กสทช.จัดประมูลไม่ทัน เกรงว่าจะเกิดซิมดับและกระทบต่อผู้ใช้งาน แต่ครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะกสทช.จัดประมูลทัน ดีแทค จะมาหวังใช้คลื่นฟรีๆไม่ได้ ส่วนการยกเลิกมาตรการเยียวยา จะอยู่ที่อำนาจ ของ กสทช. หรือไม่
“ต้องรอนำเข้าที่ประชุมก่อน เมื่อไม่มีผู้ประมูลกสทช.ต้องปรับหลักเกณฑ์การประมูลใหม่คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 เดือน ถึงจะได้ประมูลอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่สามารถลดราคาได้เอกชนไม่มีทางกดดันให้กสทช.ทำตามที่เอกชนต้องการได้” พล.อ.สุกิจ กล่าว
เลิกฝันอนาคต“5G”-โครงข่ายไทยลงเหว
ขณะเดียวกันแหล่งข่าวจากระดับสูงวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า การไม่มีผู้ใดสนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz ย่อมส่งสัญญาณอันตรายต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย รวมถึงความตั้งใจที่รัฐบาลต้องการให้เกิด 5G ให้ได้ภายในเร็ววัน เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน ตอนนี้กลายเป็นว่าประเทศไทยจะมีความถี่อยู่จำนวนมาก แต่กลับไม่มีผู้ใดสนใจเสนอตัวนำความถี่มาสร้างโครงข่ายให้บริการประชาชน ทั้งที่ในอนาคตอัตราการบริโภคข้อมูลผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีเพิ่มขึ้น 8-10 เท่าใน 4-5 ปีข้างหน้า แต่กลับไม่มีความถี่ใหม่เข้าสู่โครงข่ายเพื่อรองรับความต้องการนี้ คุณภาพการให้บริการจะมีแต่แย่ลงหรือย่ำอยู่กลับที่
แนะกสทช.ทบทวนประมูลความถี่
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่ กสทช. ต้องกลับมานั่งทบทวนเรื่องการจัดสรรความถี่ใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าการประมูลความถี่ยังเป็นวิธีการที่ดีอยู่อีกหรือไม่ในการจัดสรรความถี่ ทั้งที่หลายประเทศเลือกจะใช้วิธีอื่นๆ ได้หลากหลายแต่ได้ผลมากกว่า มูลค่าราคาคลื่นจากการประมูลความถี่จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งในแง่เป็นกำแพงที่จะมีรายใหม่เข้ามาสู่ตลาด หรือเป็นการดึงเงินออกจากอุตสาหกรรมเกินจำเป็น การที่ กสทช. เรียกเงินค่าความถี่จำนวนมากในเวลาอันสั้น อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่เหลือเงินสดในการลงทุนสร้างโครงข่ายใหม่หรืออัพเกรดเทคโนโลยีให้ทันสมัย
จับตาประมูลคลื่น2600ราคาสูงลิบลิ่ว
ทั้งนี้คาดการณ์ได้ว่าตามแผนที่จะนำความถี่ย่าน 2600 MHz มาจัดสรรต่อไปถ้ายังคงใช้หลักเกณฑ์แบบเดิมทั้ง N-1 หรือ ราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงลิ่ว รวมทั้งการไม่แก้ไขสถานการณ์ราคาความถี่ย่าน 900 MHz ที่สูงเกินจริงเป็นอย่างมาก ก็น่าจะไม่มีสนใจเข้าร่วมการประมูล ทั้งนี้ความถี่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการน่าจะให้ความสนใจไปที่ความถี่ 700 MHz ที่จะเป็นความถี่ที่ใช้ในการวางโครงข่ายให้ครอบคลุม รวมทั้งย่าน 3.5GHz และ 28 GHz ที่จะเป็นความถี่ชุดแรกที่ทั่วโลกตกลงนำมาใช้งานในเทคโนโลยี 5G แต่ทั้งนี้ถ้าเงื่อนไขถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็ยากที่จะมีผู้สนใจนำความถี่เหล่านี้มาพัฒนาโครงข่ายให้คนไทยได้ใช้งาน
ส่วนกรณีที่หุ้นดีแทคปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าจะมาจากเหตุของนักลงทุนไม่แน่ใจว่า กลุ่มเทเลนอร์ ยังคงจะทำธุรกิจต่อไปหรือไม่ มากกว่าที่จะสนใจว่าจะมีคลื่นเพียงพอต่อการทำธุรกิจหรือไม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี