ศาลปกครองสั่ง รฟท.ชดใช้ “ประภัสร์ จงสงวน” กรณีเลิกจ้างก่อนครบสัญญา 3.1 ล้านบาท ชี้คำสั่ง คสช.ให้พ้นจากตำแหน่งชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟท.ทำผิดไม่บอกสัญญาจึงต้องชดใช้ ขณะที่“ประภัสร์”ไม่ติดใจ คสช. แต่บี้บอร์ด รฟท.ขณะนั้นจ่ายเงินส่วนดอกเบี้ยแทน รฟท.ด้วย
5 ก.ย.61 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จ่ายเงินชดใช้กรณีเลิกจ้างก่อนครบสัญญาให้นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการ รฟท.จำนวน 3,139,452.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 2,800,000 นับถัดจากวันที่ 11 เม.ย. 59 ซึ่งเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเนื่องจาก รฟท.ได้ว่าจ้างนายประภัสร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ตามสัญญาลงวันที่ 14 พ.ย.55 แต่ต่อมา คสช.ได้มีคำสั่ง 89/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค.57 ให้พ้นจากตำแหน่ง นายประภัสร์เห็นว่าทำให้เกิดความเสียหาย จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ส่วนเหตุที่ศาลสั่งให้ รฟท. ชดใช้ เนื่องจากเห็นว่า การที่หัวหน้า คสช.มีคำสั่ง 89/2557 ลงวันที่ 10 ก.ค.57 ให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่ง แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า รฟท.เป็นผู้เสนอ ครม.ให้เห็นชอบตามมาตรา 31 วรรค 3 พ.ร.บ.การรถไฟ 2494 แต่เมื่อ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ หัวหน้าคสช.จึงเป็นผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 10/2557 เรื่องให้อำนาจหน้าที่ของนายกฯเป็นอำนาจหน้าที่ คสช.ลงวันที่ 22 พ.ค.2557
ดังนั้น การที่หัวหน้าคสช.มีคำสั่ง 89/2557 ให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. จึงเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้กำกับดูแลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เพื่อให้การปฏิบัติงานของ รฟท.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลทำให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ตามคำสั่งที่ประธานกรรมการ รฟท.ได้แต่งตั้ง ตามคำสั่งคณะกรรมการ รฟท.ที่ 22/2555 ลงวันที่ 14 พ.ย.55 เรื่องแต่งตั้งผู้ว่าการ รฟท. ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในฐานะคู่สัญญาในการเลิกสัญญา อันจะมีผลให้สัญญาจ้างผู้ว่าการ รฟท.ลงวันที่ 14 พ.ย.55 สิ้นสุดลง
อีกทั้งการที่นายประภัสร์ ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ก็ไม่ใช่กรณีที่มีผลให้สัญญาสิ้นสุดลงตามที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในข้อ 5.2 ของสัญญาจ้าง ดังนั้นคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่ง จึงไม่มีผลให้สัญญาจ้างนายประภัสร์ เป็นผู้ว่าการ รฟท.ฉบับลงวันที่14 พ.ย.55 สิ้นสุดลงแต่อย่างใด รฟท.จึงยังคงมีสิทธิตามสัญญา เช่นคู่สัญญาพึงมีซึ่งสิทธิที่ว่านั้น รวมถึงสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิทธิของคู่สัญญาโดยแท้ แต่ รฟท.ก็ไม่บอกเลิกสัญญา ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าคำสั่ง คสช.ที่ให้นายประภัสร์ พ้นจากตำแหน่งชอบด้วยกกหมาย ด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นที่สุดตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) 2557 ซึ่ง รฟท.ในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้อยู่ใต้อำนาจการกำกับดูแลของ คสช.จึงไม่อาจดำเนินการเป็นอย่างอื่นนอกจากบอกเลิกสัญญาเท่านั้น
แม้ไม่ปรากฏว่า รฟท.บอกเลิกจ้างสัญญาโดยแจ้ง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีเห็นว่า รฟท.มีเจตนาเลิกสัญญากับนายประภัสร์ โดยปริยายแล้ว จึงมีผลให้สัญญาจ้างระหว่าง รฟท.กับนายประภัสร์ สิ้นสุดลงหรือเลิกกันไปโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.โดยที่นายประภัสร์ ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ดังนั้น รฟท.จึงต้องรับผิดต่อนายประภัสร์ ตามสัญญาข้อ 5.4 ที่กำหนดว่าหากผู้ว่าจ้างต้องการบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลา โดยที่ผู้รับจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างจะมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้รับจ้างไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าตอบแทนเท่ากับค่าจ้างเดือนสุดท้ายของผู้รับจ้างคูณด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่ แต่ไม่เกิน 6 เดือน
ซึ่งข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายประภัสร์ ได้รับเงินเดือนในอัตราเดือนละ 4 แสนบาท และเมื่อข้อ 1 ของสัญญาจ้างกำหนดเวลาจ้างตั้งแต่ 14 พ.ย.55-17 พ.ค.58 แต่สัญญาสิ้นสุดลงก่อนในวันที่ 10 ก.ค.57 นายประภัสร์ จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเท่าค่าจ้างเดือนสุดท้ายของนายประภัสร์ คูณด้วยระยะเวลา 6 เดือนรวมเป็นเงิน 2.4 ล้านบาท พร้อมทั้งต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่นายประภัสร์ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ของต้นเงินจำนวน 2.4 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.57 จนถึงวันที่ 11 เม.ย.59 ซึ่งเป็นวันฟ้องคดี รวมเป็นระยะเวลา 642 วัน คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 316,602.74 บาท
อีกทั้งต้องรับผิดชดใช้เงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้าย 1 เดือนเป็นเงิน 400,000บาท ตามมาตรา 582 วรรค1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบข้อ 5.4ของสัญญาจ้างและรับผิดชดใช้เงินค่าตอบแทนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของต้นเงินจำนวน400,000บาท ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.58 ถึงวันที่ 11 เม.ย.59 คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน22,849.31 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,139,452.05 บาท
ด้านนายประภัสร์ กล่าวว่า ที่ต้องมาฟ้องเพราะบอร์ด รฟท. ในขณะนั้นตัดสินใจไม่ยอมจ่ายชดเชยการเลิกจ้าง ซึ่งไม่ได้พิจารณาตามข้อกฎหมาย แต่ทำตามอำเภอใจ เรื่องนี้น่าเสียดายว่าไม่ควรที่จะเกิดขึ้น น่าจะให้เป็นตามสัญญา ก็ไม่ต้องมาเสียเงินดอกเบี้ยเพิ่มเติม จากเงินค่าจ้างที่ต้องจ่าย แต่กลับทำให้หน่วยงานต้องเสียค่าดอกเบี้ยเพิ่มจากเงินเดือนชดเชยที่ต้องได้ บอร์ดรฟท.ชุดนั้นจึงควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นผู้ออกคำสั่ง ตนไม่ติดใจหรือต่อว่ารัฐบาล คสช.เพราะเข้าใจเรื่องของความเหมาะสมต้องการคนที่ตัวเองไว้ใจมาทำงาน ซึ่งเป็นสิทธิ์ในการบริหารงานสามารถทำได้ อย่างไรก็ตามหากคู่กรณีไม่พอใจผลคำพิพากษาก็สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี