ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แจ้งข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงานเสวนาออนไลน์รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ” ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เเละกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
การจัดเสวนาในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจในวงกว้าง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนทั่วไป รวมทั้งสิ้นมีผู้เข้าร่วมเสวนามากกว่า 120 ท่าน และได้รับเกียรติจากคุณพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยในการนี้ได้กล่าวถึง
“ประเด็นปัญหาของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาด้านฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากนี้จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่เขตเมืองมีแหล่งกำเนิดหลักมาจากภาคการขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเผาไหม้ของยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล กรมควบคุมมลพิษจึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัย MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษาแนวทางการลดการระบายฝุ่น PM2.5 จากภาคการขนส่งทางถนนทั้งในระดับประเทศไทย และโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากการระบายฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”
ด้าน รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการฯ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กล่าวว่า “โครงการการศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบัน และอนาคตด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ฝุ่นละอองในภาพรวมของประเทศในพื้นที่วิกฤติ และเพื่อมีเครื่องมือที่สามารถใช้ในการประเมินความสำเร็จของมาตรการ แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยการลดการปล่อยมลพิษจากยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล”
การเสวนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาประมวลผลความเหมาะสม และความเป็นไปได้ด้านเทคนิค และประโยชน์ความคุ้มทุน (Cost-Benefit) ในการส่งเสริมใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6ในการทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งสำหรับยานยนต์ใหม่ และยานยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์กรองฝุ่นละออง DPF (Diesel Particulate Filter) ที่สามารถลดฝุ่นละอองได้มากกว่า 85% โดยการเสวนารับฟัง ความคิดเห็นแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 เป็นการเสวนาประเมินปัจจัยที่มีผลกระทบกับการใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6 ด้วยวิธีวิเคราะห์ PESTEL (Political, Economic, Social, Technological, Environmental, Legal)
และส่วนที่ 2 เป็นการเสวนาวิเคราะห์ผลการลดการระบายฝุ่น PM2.5 ภายใต้ภาพฉายที่มีการใช้เทคโนโลยี BEV NGV และ Euro 6 มาทดแทนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ทั้งสำหรับยานยนต์ใหม่ และยานยนต์ที่ใช้งานในปัจจุบัน ซึ่งหนึ่งในภาพฉายของผลการศึกษาเบื้องต้น คือ ภาพฉายที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การให้ยานพาหนะใหม่ที่จะจดทะเบียนเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) 100% ในปี ค.ศ. 2035
ซึ่งจากผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการฯ พบว่าภายใต้ภาพฉายของการดำเนินการตามนโยบายของประเทศไทยเรื่องการบังคับใช้เชื้อเพลิงดีเซลกำมะถันต่ำ 10 ppm แทน50 ppm ปีพ.ศ. 2567 ร่วมกับการบังคับใช้มาตรฐานการระบายไอเสียยูโร 5/6 สำหรับยานยนต์ทุกประเภทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 และการให้ยานพาหนะใหม่ที่จะจดทะเบียนเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) 100% ในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) สามารถลดการระบายฝุ่น PM2.5 จากภาคขนส่งทางถนนของประเทศไทย ได้ถึง 42% โดยเกิดปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 11.9 กิโลตัน ในปีพ.ศ. 2078 (ค.ศ. 2035) และลดลงได้ถึง 78% โดยเกิดปริมาณฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 3.6 กิโลตัน ในปีพ.ศ.2093 (ค.ศ. 2050) เมื่อเทียบกับภาพฉายตามสถานการณ์การดำเนินงานปกติ (BAU)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี