การส่งออกไทยอาการหนัก ตัวเลข 8 เดือนแรกขยายตัวแค่ 1% หวังไตรมาสสุดท้ายดีดตัวแรง ดันทั้งปีให้โตระดับ 4% รมว.พาณิชย์ยอมรับ การส่งออกขยายตัวต่ำกระทบเศรษฐกิจแน่ แต่ยังไม่รู้มีการเลิกจ้างแรงงานมากแค่ไหน เร่งปรับแผนหาตลาดใหม่ ค้าชายแดน เพิ่มมูลค่าสินค้า
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือเวิร์กช็อปกับทูตพาณิชย์ 62 แห่งทั่วโลก และภาคเอกชน เพื่อร่วมหาแนวทางและมาตรการเร่งด่วนผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมกับทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่ หลังจากที่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัว 4% ส่งผลให้ 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่งออกขยายตัวเพียง 1% ดังนั้นจึงจะต้องทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ เพราะแนวโน้มการส่งออกปีนี้ อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะขยายตัว 7-7.5% คาดว่าได้ข้อสรุปเดือนตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตามจากการหารือร่วมกับทูตพาณิชย์ 62 แห่งทั่วโลก ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เพื่อร่วมหาแนวทางและมาตรการเร่งด่วนผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ว่า กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันยอดการส่งออกในปีนี้ให้ขยายตัวถึง 4% ได้ แต่จะมีการหารือร่วมกับเอกชนอีกครั้งในปลายเดือนตุลาคม เพื่อเจาะลึกรายอุตสาหกรรมก่อนสรุปตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยปี 2556 อย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ยอดการส่งออกที่ลดลงอาจกระทบต่อเศรษฐกิจบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ากระทบต่อการจ้างงานแต่อย่างใด สำหรับการปรับแผนบุกตลาดส่งออกใหม่ จะเน้นเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน เจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ และทำงานร่วมกับเอกชนให้หนักขึ้น และในส่วนการส่งออกจะผลักดันสินค้าทุกกลุ่ม ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยจะมุ่งไปที่ตลาดเอเชีย และการเพิ่มปริมาณการค้าในบริเวณชายแดนมากขึ้น ส่วนตลาดจีนก็มีมูลค่าทางตลาดมากขึ้น แม้ว่าการส่งออกจะมีปริมาณลดลง แต่ยังเป็นห่วงแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทมาอยู่ที่ 31 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก
สำหรับยอดการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2556 มีตัวเลขดีขึ้น โดยขยายตัวสูงถึง 4% ทำให้เฉลี่ย 8 เดือนแรกของปีขยายตัวเกิน 1% เพิ่มขึ้นจากช่วง 7 เดือนก่อนหน้าที่เฉลี่ยเพียง 0.6% และเชื่อว่าแนวโน้มส่งออกไตรมาส 4 จะสดใส หลังยอดเดือนสิงหาคม 2556 เพิ่มขึ้น และเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงมีการเร่งออกไปเจาะตลาดใหม่ๆ และมียุทธศาสตร์การผลักดันการส่งออก ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการพาผู้ประกอบการออกงานนิทรรศการ และจับคู่ทางธุรกิจให้ด้วย ส่วนเป้าหมายทั้งปีจะทบทวนใหม่คาดว่าได้ข้อสรุปเดือนตุลาคม ซึ่งแนวโน้มอาจต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ 7-7.5% เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งการส่งออกของทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับไทย
ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังเชื่อว่าภาพรวมการส่งออก ทั้งปียังขยายตัวได้ 6-7% และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ 4% ทั้งนี้ หอการค้าฯ จะรับฟังแนวทางการผลักดันการส่งออกจากภาครัฐก่อน และจะร่วมมือกับรัฐบาลเร่งรัดการส่งออกให้มากขึ้น
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ของปีนี้น่าจะดีขึ้น เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากเมื่อต้นปี และหลายอุตสาหกรรมการส่งออกขยายตัวดี เช่น พลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องสำอาง จึงคาดว่าปีนี้การส่งออกน่าจะขยายตัวประมาณ 3-4% แต่จะมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอีกครั้งเพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรคของฝั่งอุตสาหกรรมแต่ละราย และจะมีการประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปีนี้และปีหน้าด้วย
นายสถาวร ทรัพย์สุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ กล่าวว่า ในส่วนการผลักดันการส่งออกในส่วนที่ตนดูแลอยู่ คือแถบยุโรปกลาง หรือ New EU ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 11 ประเทศ อาทิ สาธารณรัฐเช็ก สโลเวเนีย สโลวัก โปแลนด์ ฮังการี บัลแกเรีย โรมาเนีย โครเอเชีย เป็นต้น และคาดว่าจะมีการขยายกลุ่มประเทศสมาชิกต่อไปเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการทำตลาดพอสมควร เพราะตลาดนี้ถือว่าค่อนข้างเป็นตลาดใหม่สำหรับไทย และ New EU ถือว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ ให้ความสำคัญ เพราะการยึดตลาดนี้ไว้จะทำให้ไทยสามารถเข้าถึงการทำตลาดยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออกได้ง่าย เนื่องจาก New EU ถือว่าเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งสินค้าป้อนไปยังประเทศแถบยุโรปเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้การที่ในปี 2557 ประเทศไทยจะต้องถูกตัดระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences หรือ GSP) ที่เป็นเแต้มต่อสำคัญของไทยไปเรื่อยๆ จนกลายเป็น 100% ในปีถัดไป ก็จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศส่งออกคู่แข่งอย่างกัมพูชาที่ได้รับสิทธิ์การงดเว้นการเสียภาษีส่วนนี้ เพราะจากการเป็นประเทศที่มีการพัฒนาน้อย และการรอข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area หรือ FTA) ก็อาจช้าเกินไป
สำหรับการเข้ามาลงทุนใน New EU ที่สามารถทำได้คือการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายโดยตรง ซึ่งก่อนสร้างตลาดต้องมีการทำความเข้าใจตลาดนี้ให้มาก เนื่องจากประเทศแถบนี้เคยเป็นประเทศสังคมนิยมมาก่อน จึงทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวมีไม่สูง หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศแถบยุโรปตะวันตก จึงทำให้ผู้บริโภคมักเพ่งเล็งไปที่สินค้าราคาถูก การเข้าไปทำตลาดในแถบนี้จึงมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในเรื่องของราคา แต่ก็ถือว่าเป็นการเข้าไปทำตลาดอย่างง่าย ส่วนอีกวิธีหนึ่งที่ถือว่าเป็นการทำตลาดที่อยากกว่าคือการเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์กับประเทศในแถบนั้น โดยการเข้าไปร่วมลงทุน เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยกำลังจะเสียเปรียบ เพราะถูกตัด GSP และยังต้องมีการแข่งขันกับ จีน เวียดนาม ซึ่งอาจจะทำให้ไทยเสียโอกาสทางตลาด และหลุดออกจากกลุ่มการค้ากับประเทศแถบยุโรปได้
ขณะนี้มีโครงการของไทยเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ New EU แล้ว อาทิ การลงทุนของบ.ลักกี้ยูเนียน ในประเทศโปแลนด์ การลงทุนเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ในสโลวัก และการลงทุนเรื่องอาหารในประเทศฮังการี เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทเริ่มมีการปรับตัวด้านธุรกิจบ้างแล้ว และมองว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กควรมีการปรับตัวบ้าง ซึ่งทางสำนักงานใหญ่ทั้ง 3 แห่งในยุโรป ทั้งวอร์ซอร์ ปาร์ก บุสดาเปรส ยินดีให้ความร่วมมือในการหาพาร์ทเนอร์ให้
ส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศในแถบยุโรปทั้งหมดในปี 2556 มีเป้าหมายการขยายตัวที่ 5% ซึ่งขณะนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2556 ขยายตัวไปได้ถึง 2.5% และเชื่อว่าภายใน 4 เดือนที่เหลือจะสามารถถึงเป้าที่กำหนดไว้ได้ และในปี 2557 มีเป้าหมายที่จะส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป 5% สำหรับมีเป้าส่งออกไปยัง New EU ที่ 8%
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี