วันคุ้มครองโลกของทุกปีจะตรงกับวันที่ 22 เมษายน สำหรับปี พ.ศ.2561 นี้ ประเทศไทยมีแนวคิด “คนรุ่นใหม่ ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤติโลกร้อน” และวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี คือ วันสิ่งแวดล้อมโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme UNEP) ได้กำหนดการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกปี พ.ศ. 2561 โดยมี คำขวัญว่า “If you can’t reuse it, refuse it” หรือ “ถ้าเอามันกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ จงปฏิเสธมัน”
ปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเช่นเดียวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ทั่วโลกต่างตระหนัก และให้ความสำคัญต่อปัญหานี้
ปัจจุบันพลาสติกเป็นวัสดุที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ ต่างนิยมใช้ถุงพลาสติกบรรจุสินค้า เหตุนี้จึงทำให้พลาสติกกลายเป็นขยะที่มีปริมาณมาก และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว
ขวดและถุงพลาสติก ที่ใช้เวลาผลิตไม่ถึงชั่วโมง แต่กลับใช้เวลาย่อยถึง 450 ปี ในขณะที่ผ้าฝ้ายเศษกระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 5 เดือน
นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic) ฉบับหนึ่งได้มีการคัดเลือกและตีพิมพ์ ภาพนกกระสาตัวหนึ่งที่ติดอยู่ในถุงพลาสติก ในกองขยะแห่งหนึ่งในประเทศสเปนนับว่าเป็นโชคดีของนกกระสาตัวนี้ หลังจากที่ช่างภาพได้บันทึกภาพ ด้วยความตั้งใจที่จะให้ทั่วโลกตระหนักถึงเรื่องนี้ ได้ช่วยนำพลาสติกออกจากตัวนกกระสา เพื่อให้มันสามารถใช้ชีวิตได้อย่างธรรมชาติ ไม่ต้องใส่เสื้อพลาสติกไปตลอดชีวิต
ไม่เพียงแต่นกกระสา ยังมีภาพของเต่าหัวค้อนที่ติดอยู่ในตาข่ายจับปลาพลาสติกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เต่าหัวค้อนตัวนี้ได้พยายามแหวกว่าย และยืดคอขึ้นไปหายใจเหนือน้ำเคราะห์ดีที่ช่างภาพช่วยเข้าไปช่วยได้ทันเวลา มิฉะนั้นคงต้องหมดลมหายใจคาอยู่กับตาข่ายพลาสติก
ทั้งภาพหน้าปกของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 เป็นรูปถุงพลาสติกใบหนึ่งที่ลอยอยู่กลางทะเลพร้อมกับคำว่า “Planet of Plastic” หรือดาวเคราะห์พลาสติก
เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 ได้มีปลาวาฬนำร่องครีบสั้นเพศผู้ยาวลำตัว 4.5 เมตร หนักประมาณ 500 กิโลกรัม เกยตื้นบริเวณปากคลองนาทับ ซึ่งติดกับทะเลอ่าวไทย ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีลักษณะป่วยหนัก ทีมสัตวแพทย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตได้ ปลาวาฬมีชีวิตได้เพียง 5 วัน เมื่อได้ทำการผ่าพิสูจน์ศพ ทีมสัตวแพทย์ต้องตะลึง เพราะพบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารจำนวนมากถึง 80 ชิ้น มีน้ำหนักรวมกัน 8 กิโลกรัม ที่น่าสลดใจยิ่งนัก คือ ก่อนปลาวาฬจะตายได้ขย่อนถุงพลาสติกออกมากถึง 5 ชิ้น
ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะในทะเล ขยะพลาสติกและขยะมูลฝอยในจังหวัดที่ติดทะเล 23 จังหวัด มีประมาณถึง 11.47 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกประมาณ 3 แสน 4 หมื่นตัน โดยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมบนบก และกิจกรรมทางทะเลไทย จึงถูกจัดอยู่ในลำดับอันดับที่ 6 จาก 192 ประเทศทั่วโลกที่มีขยะในทะเลมากที่สุด โดยพบว่า มีปริมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ในแต่ละปี
คงไม่เพียงแต่ปลาวาฬที่ต้องจบชีวิต ยังมีสัตว์ทะเลจำนวนมากที่ต้องตายจากขยะพลาสติก เพราะสัตว์ทะเลได้กินซากถุงพลาสติก นอกจากนี้ ไมโครพลาสติกที่แตกตัวลงสู่ทะเลสามารถเข้ามาสู่ร่างกายคน เมื่อมีการบริโภคสัตว์ทะเล
หากพิจารณาปริมาณขยะพลาสติกในภาพรวม จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) ปริมาณขยะพลาสติกในประเทศไทย มีมากถึง 2 ล้านตันต่อปี หรือร้อยละ 20 โดยมีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์น้อยมากเพียงร้อยละ 0.5 ล้านตันต่อปี ที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ถูกนำไปจำกัดด้วยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา และมีบางส่วนที่ค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายหลายร้อยปี
การกำจัดพลาสติกโดยการเผา ทำให้เกิดสารพิษในชั้นบรรยากาศ อันอาจนำไปสู่การปนเปื้อนของแหล่งน้ำ แหล่งดิน ทำให้คนได้รับสารพิษจากการสูดดม และการดื่มน้ำ การเผาไหม้พลาสติกประเภทพีวีซีทำให้เกิดสารพิษ สารก่อมะเร็งที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ
ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร(กทม.) ระบุว่า ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2560-31 มีนาคม พ.ศ.2561 กรุงเทพฯ มีปริมาณขยะมูลฝอยทั้งสิ้น 1,920,294.96 ตัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 10,551.07 ตันต่อวัน มีขยะประเภทถุงพลาสติกวันละประมาณ 80 ล้านชิ้น โดยเฉลี่ยประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ใช้ถุงพลาสติกคนละ 8 ชิ้นต่อวัน ส่วนมากเมื่อใช้จะทิ้งทันที การฝังกลบมีค่าใช้จ่ายตันละ 700 บาท หากรณรงค์หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก หรือนำกลับมาใช้อีก ย่อมมีส่วนช่วยให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะพลาสติกได้
นับว่าเป็นเรื่องดี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2561 หน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน และประชาสังคม ร่วมลงนามเพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืนโดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2570 จะต้องลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
แนวทางหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องดี คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติก หรือเรียกว่า “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศษวัสดุ (Upcycling) ด้วยการแปลงวัสดุเหลือใช้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานตามหน้าที่เดิม ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ ถือว่า เป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่เป็นประเทศที่ 2 ในโลก ที่ได้รับเกียรติให้แสดงนิทรรศการ “Pure Gold-Upcycled! Upgraded! เปลี่ยนขยะเป็นทอง” ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม-22 กรกฎาคม 2561 แกลเลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ นิทรรศการนี้มีการแสดงผลงานสร้างสรรค์จากฝีมือ 56 นักออกแบบทั่วโลก จำนวน 79 ชิ้นงานที่นำขยะและเศษวัสดุมาสร้างมูลค่า นิทรรศการนี้น่าจะทำให้คนไทยเกิดแนวคิดสร้างขยะพลาสติกให้มีมูลค่า พลาสติกบางอย่างที่กำลังลงสู่ถังขยะอาจกลับมีมูลค่า
ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่คนไทยทุกคนสามารถร่วมมือกันได้ และไม่ใช่จะเป็นเรื่องยากเลย ไม่ว่าจะเป็นการนำถุงผ้าไปใช้บรรจุสินค้าเอง การไม่ใช้หลอดพลาสติก การนำถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง จะสามารถแก้ไขปัญหาพลาสติกได้อย่างยั่งยืน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี