ตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงอิทธิพลของสีที่พิจารณาด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้เราจะมาพูดถึงอิทธิพลของสีที่พิจารณาด้วยเหตุผลด้านจิตวิญญาญทางศาสนาฮินดู
ผมได้ชมคลิปวิดีโอที่ ซาสกูรู (SADHGURU) ซึ่งเป็นกูรูนักพูดที่มีชื่อเสียงทางด้านปรัชญา ศาสนา ของอินเดีย ได้พูดถึงเรื่องการแต่งกายด้วยสีต่างๆ ว่ามีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างไร
เขาบรรยายว่า สีขาวที่ตามนุษย์เห็นนั้น มาจากการสะท้อนของสีทุกสียกเว้นสีขาวออกมา ดังนั้น สีขาวจึงเป็นสีที่สะท้อนทุกสิ่งออกไป
ในขณะที่ วัตถุที่เราเห็นเป็นสีดำ เพราะวัตถุสีดำได้ดูดกลืนทุกสีเอาไว้ ไม่สะท้อนสีใดๆออกไปเลย
(ชาวบ้านที่ผมถ่ายภาพไว้ที่วิหารพระอาทิตย์ที่โมเดรา จะเห็นว่า จะไม่ค่อยเห็นสีดำเลย)
ดังนั้น ซาสกูรู จึงแนะนำให้สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย “สีขาว” เป็นหลัก เพราะสีขาวสะท้อนแสง และ พลังงานออกไป ซึ่งแสงที่สะท้อนออกไปก็จะมีพลังออร่าเปล่งประกายออกไปด้วย
แต่หากเราใส่เสื้อผ้าสีดำ มันจะดูดแสง และ พลังงานทุกอย่างเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น และ พลังงานอื่นๆเข้ามาในตัว
พลังงานที่ว่านี้ มีทั้งพลังงานด้านบวก และ พลังงานด้านลบ
หมายความว่า หากคุณใส่เสื้อผ้าชุดสีดำไปไหนมาไหนทั้งวัน คุณอาจะผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่มีพลังงานบวก และ พื้นที่ที่มีพลังงานลบโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่เกี่ยวกับคนตาย หรือ การตาย
เราจึงเห็นลูกหลานชาวจีนจะสวมใส่ชุดไว้ทุกข์(ตามประเพณีจีน) เป็นผ้าสีขาว หรือ ผ้ากระสอบสีอ่อนในช่วงทำพิธีศพของบรรพบุรุษในวัด
เช่นเดียวกัน ชาวฮินดูจะแต่งกายชุดขาว ตอนไปร่วมงานพิธีเผาศพของพ่อแม่ หรือ คนที่เคารพ
เขาจะไม่แต่งชุดดำตามแบบที่ชาวตะวันตกทำกัน
(ซ้ายมือคือ นักบวชในนิกาย เศวตัมพร ที่นุ่งห่มด้วยชุดขาว ขวามือ นักบวชนิกาย ทิคัมพร ที่ไม่นุ่งอะไรเลย)
นักบวชในศาสนาเชนในนิกายเศวตัมพร แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว เพราะต้องการสะท้อนทุกสิ่งที่มากระทบออกไป ในขณะที่นักบวชของนิกายทิคัมพร ไม่ใส่เครื่องนุ่งห่มใดๆเลย เพราะไม่ต้องการรับเอาสิ่งใดๆทั้งสิ้นเข้ามาสู่ตัวเอง และไม่ต้องการสะท้อนสิ่งใดๆออกไปจากร่างกาย เพราะท่านเหล่านี้ ตัดขาดจากโลกแห่งกิเลสแล้ว
ทีนี้มาถึงเรื่องที่ว่า ทำไมชาวอินเดียโดยเฉพาะผู้หญิงมักจะแต่งกายด้วยสีสรรสดใส ฉูดฉาด อย่างที่เราเห็นๆกัน เรื่องนี้ ซาดกูรู ได้บรรยายว่า
(7 จักระ ที่สำคัญของฮินดู – ภาพจากกูเกิ้ล)
ตามศาสตร์ของวิชาการนั่งสมาธิของฮินดูโบราณบอกว่า ในร่างกายมนุษย์จะมีจักระ (CHAKRA) อยู่ทั้งหมด 112 จุด แต่จะมีเพียง 7 จักระที่สำคัญ แต่ในทางศาสนาพุทธระบุว่ามีเพียง 5 จักระ เท่านั้น
แนวคิดในเรื่องจักระ ของฮินดูนี่เอง ที่เป็นพื้นฐานของวิชากำลังภายใน หรือ วิชากังฟูของจีน ที่เชื่อว่า พระสงฆ์ในศาสนาพุทธผู้มีชื่อว่า พระโพธิธรรม(BODHIDHARMA) หรือ หลวงจีนตั๊กม้อ จากอินเดียได้นำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีนเมื่อประมาณศตวรรษที่ 5-6 ในสมัยราชวงศ์เหนือ และ ราชวงศ์ใต้ ของจีน
(ภาพวาดจินตนาการของพระโพธิธรรม - ภาพจากวิกิพีเดีย)
จนกลายมาเป็นวัดเส้าหลินที่โด่งดัง
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู อัคนา จักระ(AJNA CHAKRA) ที่อยู่กลางหน้าผากเหนือตาทั้งสองหรือเรียกว่า ตาที่ 3 เป็นตาแห่ง ภูมิปัญญาของการหลุดพ้น มีสีส้ม ดังนั้น ผู้ที่เชื่อถือในตาที่ 3 มักจะสวมใส่เสื้อผ้าสีส้ม เช่น นักบวชในนิกาย ฮาเรกฤษณะ และนักบวชบางนิกายของอินเดีย
ส่วนจักระที่เรียกว่า มูละธารา(MULADHARA) ซึ่งเป็นจักระที่สำคัญที่สุด มีสีเหลือง ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ทางศาสนาพุทธจึงเลือกใช้สีเหลือง
มาถึงข้อสรุปเรื่องการเลือกใช้สีเสื้อผ้าตามแนวคิดของซาสกูรูก็คือ ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำไปในสถานที่ที่เราไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพิธีศพ เพื่อจะได้ไม่ไปรับเอาพลังงานด้านลบมาใส่ตัว แต่ควรจะใส่เสื้อผ้าชุดขาว หรือ ชุดที่มีโทนสีระหว่างกลางสีขาวไปถึงสีดำ
(นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แต่งกายด้วยเสื้อสีขาว ตอนไปแสดงความอาลัย และ ความเคารพต่อ ลาตา มังเกชการ์)
นอกจากสีเหล่านี้แล้ว สีแดงเป็นสีที่ให้ความรู้สึกถึงพลัง สร้างความสั่นสะเทือน และ แฝงไว้ซึ่งความเป็นผู้หญิง ที่สำคัญก็คือ เป็นสีแห่งความมั่นใจ ในขณะที่ชาวจีนจะถือว่า สีแดงเป็นสีแห่งความรัก ความชื่นชมยินดี ความสุข
ดังนั้น หากหญิงใดมีความมั่นใจสูง ก็สามารถเลือกใช้ชุดสีแดงเดินเข้าไปในงาน จะดึงให้ทุกสายตาจ้องมาที่คุณได้เลย
ขออย่างเดียว อย่าเดินสะดุดขาตัวเองด้วยความประหม่าเสียก่อน
(WOMEN IN RED ภาพยนต์ที่ประสบความสำเร็จด้วย สีแดง เป็นหลัก)
นี่คือเหตุผลที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่มักจะใส่เสื้อผ้าสีสรรสดใส และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใส่เสื้อผ้าสีดำกัน
เชื่อหรือไม่ ก็ตามอัธยาศัยครับ
สวัสดี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี