ปฏิบัติการโจมตีสำนักงานหนังสือพิมพ์ “ชาร์ลี เอ็บโด” ในกรุงปารีส สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการรักษาความเชื่อและความศรัทธาของกลุ่มหัวรุนแรง และน่าจะเป็นบทเรียนสำคัญของฝรั่งเศสในการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
การบุกโจมตีหนังสือพิมพ์แนวเสียดสีล้อเลียน “ชาร์ลี เอ็บโด” ในกรุงปารีส ของกลุ่มหัวรุนแรง เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปีของฝรั่งเศส และไม่ใช่เหตุการณ์ความรุนแรงครั้งแรก เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว ฝรั่งเศสเกิดเหตุโจมตีพลเมืองและตำรวจติดต่อกัน 3 วัน แม้รัฐบาลฝรั่งเศสจะไม่ยอมรับว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุโจมตีทั้ง 3 ครั้งนับถือศาสนาอิสลาม นอกจากนี้เหตุการณ์ครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับหนังสือพิมพ์ “ชาร์ลี เอ็บโด” ยังเกิดขึ้นเพียง 3 ชั่วโมง หลังหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ได้ทวิตภาพล้อเลียนผู้นำกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส และก่อนหน้านี้ก็เคยถูกเตือนกี่ยวกับการตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสนามาแล้วหลายครั้ง
ดังนั้น เหตุการณ์โจมตีครั้งล่าสุดซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 12 คน และในจำนวนนี้ยังเป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดังรวมอยู่ด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการล้อเลียนศรัทธาหรือความเชื่อของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง
ความจริงแล้ว ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และมีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศอิสลามในแอฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตกอย่างใกล้ชิด โดยฝรั่งเศสมีกองกำลังปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงในแอฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรต่อต้านไอเอสในตะวันออกกลาง และยังมีกองกำลังทหารในอัฟกานิสถาน
ทั้งนี้ ชาวฝรั่งเศสร้อยละ 10 เป็นมุสลิม ขณะที่จำนวนประชากรวัยรุ่นของกลุ่มนี้ ร้อยละ 40 อยู่ในภาวะตกงาน ในสภาพดังกล่าว จึงเป็นเรื่องง่ายที่กลุ่มหัวรุนแรงจะเกณฑ์เข้าร่วมกลุ่มเพื่อปรับแนวคิดและฝึกการก่อการร้ายและให้กลับไปอยู่ในชุมชน
ขณะที่ “ชาร์ลี เอ็บโด” เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์แนวเสียดสีล้อเลียนที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส และเป็นหนังสือพิมพ์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาอยู่บ่อยครั้งเพราะนำเสนอเนื้อหาที่ล้อเลียนการเมืองและศาสนา ซึ่งนายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายนิโกลาส์ ซาร์โกซี อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสเอง ก็ยังเคยถูกล้อเลียน แต่ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุดคือภาพการ์ตูนต่างๆ ที่เสียดสีชาวมุสลิม โดยเมื่อหลายปีก่อน สำนักงานของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวก็เคยถูกโจมตีมาแล้วด้วยลูกระเบิด
แต่การโจมตีครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงและอุกอาจ เพราะเป็นการโจมตีในช่วงเวลากลางวันแสกๆ และมีการใช้อาวุธหนักที่มีความเชี่ยวชาญ นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนกตกใจแก่พลเมืองฝรั่งเศสอย่างมาก โดยเฉพาะมีการนำคลิปวีดีโอของช่างภาพมือสมัครเล่นที่บันทึกภาพนาทีสังหารตำรวจ ออกเผยแพร่ เป็นภาพที่สองคนร้ายสวมชุดดำ พร้อมอาวุธครบมือ เดินออกจากรถไปตามถนนในกรุงปารีสของฝรั่งเศส และสาดกระสุนไปด้วยหลายนัด ก่อนที่กล้องวีดีโอจับภาพไปที่ตำรวจนายหนึ่งนอนอยู่บนทางเท้า จากนั้นคนร้ายวิ่งเข้าหาตำรวจที่ยกมือร้องขอชีวิต แต่หนึ่งในสองคนร้ายใช้อาวุธปืนจ่อยิงเข้าที่ศีรษะของตำรวจอย่างไม่สะทกสะท้าน
สำหรับผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีครั้งนี้ ยังรวมถึงนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง 3 คน และบรรณาธิการใหญ่อย่างนายสเตฟาน ชาร์บอนนิเยร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ศาสนาควรยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์และการเสียดสี เฉกเช่นเดียวกันกับปรัชญา
ล่าสุด “ชาร์ลี เอ็บโด” ฉบับเกิดใหม่ที่เพิ่งวางแผงขายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา สร้างสถิติยอดจำหน่ายไปแล้วกว่า 1.9 ล้านฉบับ ขณะที่ยอดตีพิมพ์มีมากกว่า 5 ล้านฉบับ ภาพของผู้คนที่เข้าแถวเรียงคิวรอที่จะซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นอะไรที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะปกติแล้ว ชาร์ลี เอ็บโด มียอดพิมพ์เพียง 60,000 ฉบับต่อสัปดาห์ และมียอดขายเพียงครึ่งเดียวของยอดพิมพ์ จนทำให้ชาร์ลี เอ็บโด เผชิญปัญหาทางการเงินมาโดยตลอดในช่วงหลัง
สำหรับผลกระทบของเหตุการณ์นี้ต่อรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นใหญ่หลวงและหนักเกินกว่าที่คาดคิดไว้ แม้จะจบลงด้วยการเสียชีวิตของคนร้ายที่ก่อเหตุจากการตามล่าของตำรวจและทหารเกือบ 90,000 นาย ในเวลาเพียงแค่ 3 วัน แต่ก็นำไปสู่เหตุการณ์การจับตัวประกันถึง 2 เหตุการณ์ และมีความซ้ำซ้อนตรงที่ 2 เหตุการณ์ดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกัน โดยคนร้ายที่ก่อเหตุรู้จักกัน และเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวคิดต่อต้านเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมีประชาชนเสียชีวิตไปเกือบ 20 คน รวมทั้งตัวประกันไม่น้อยกว่า 4 คน นอกจากนี้ กลุ่มก่อการร้ายยังเป็นชาวฝรั่งเศสหัวรุนแรงที่ไปฝึกก่อการร้ายในเยเมนและเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดา และมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หากจะมองโลกในแง่ดี อาจทำให้ประชาชนต้องผนึกกำลังกันต่อสู้และบอกกับตัวเองว่าจะต้องเข้มแข็งกว่ากลุ่มก่อการร้าย นอกจากนี้ ชาวฝรั่งเศสที่เป็นมุสลิมและมีแนวคิดดังกล่าว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะหากจะเหมารวมว่าคนมุสลิมทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายจะเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งชาวฝรั่งเศสจะต้องแยกแยะเรื่องนี้ โดยรัฐบาลจำเป็นต้องให้ข้อมูลที่แท้จริง
นักวิเคราะห์มองว่า ถึงเวลาที่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ ต้องผสานความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวภายในชาติ และแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ สร้างเอกภาพเพื่อปกป้องค่านิยมแห่งสาธารณรัฐ เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ แน่นอนว่า ประธานาธิบดีโอลลองด์ไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยตัวเองเพียงลำพัง เขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้นำพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สำคัญผู้นำฝรั่งเศสต้องแสดงบทบาทที่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก เพราะเป็นที่ทราบกันว่า การโจมตีลักษณะนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนอายุน้อยๆ ที่จิตใจเปราะบางเลียนแบบได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีความเสมอภาค ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี