ความรู้ความสามารถของ “สตรีไทย” นับวันจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในทุกๆ วงการ โดยเฉพาะในวงการงานวิจัยและวิทยาศาสตร์ มีนักวิจัยสตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาวิจัยในเรื่องต่างๆ มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากงาน“สัปดาห์วิทยาศาสตร์” ศ.ดร.พิมพ์ใจใจเย็น รองคณบดีฝ่ายวิจัย อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมีและหน่วยวิจัยโครงสร้างและการทำงานของโปรตีน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานวิจัย “เรียนรู้การทำงานของเอนไซม์สู่นวัตกรรมชีวภาพที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” รุ่นแรกและได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2558 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระราชูปถัมภ์
ศ.ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 ด้านวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจบปริญญาเอกสาขาชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนอาร์เบอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมกับทำงานวิจัยควบคู่กันจนถึงปัจจุบัน
“จริงๆ แล้ว เอนไซม์มีความสำคัญกับชีวิตของมนุษย์เราเป็นอย่างมาก การที่ทุกเซลล์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นเพราะว่ามีปฏิกิริยาเคมีที่ถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำเกิดขึ้นในเซลล์ ยกตัวอย่างเช่น ปฏิกิริยาเคมีที่จำเป็นต่อการส่งสัญญาณของระบบประสาทหรือการสื่อสารระหว่างเซลล์ และการที่ปฏิกิริยาสามารถเกิดได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วนั้น จำเป็นจะต้องมีตัวควบคุม ก็คือเอนไซม์นั่นเอง”
ศ.ดร.พิมพ์ใจ เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับเอนไซม์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาปริญญาเอก และได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เมื่อ 13 ปีที่แล้ว งานวิจัยที่ทำในตอนนั้นก็ยังทำเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยได้ทำการวิจัยต่อยอดให้ลึกขึ้นและกว้างขึ้น ในช่วงแรกยังมีระบบเอนไซม์ที่ศึกษาอยู่เพียง 2 ระบบ แต่ในขณะนี้มีเอนไซม์ที่ศึกษาอยู่มากกว่า 20 ระบบ โดยเอนไซม์ที่ศึกษาอยู่ทุกตัวสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้ประยุกต์ใช้งานได้ โดยสามารถแบ่งประโยชน์การใช้งานออกได้เป็น 4 ด้านด้วยกันคือ หนึ่ง เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการเร่งปฏิกิริยาการสังเคราะห์สารเคมีที่มีมูลค่า สอง เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในกระบวนการเปลื่ยนผลผลิตเหลือใช้จากการเกษตรให้เป็นสารเคมีหรือพลังงานที่มีประโยชน์ สาม เอนไซม์ที่มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้เป็นตัวตรวจวัดชีวภาพ และสี่เอนไซม์ที่เป็นเป้าหมายใหม่สำหรับยาต้านเชื้อมาลาเรีย
“จากการศึกษาวิจัยเหล่านี้ ทำให้เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนากระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนายารักษาโรคชนิดใหม่ๆ เพื่อช่วยให้มนุษย์บนโลกใบนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ทั้งๆ ที่ งานวิจัย เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน แต่จำนวนนักวิจัยในประเทศไทยเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อจำนวนประชากรประเทศนั้น ประเทศไทยอยู่อัตราส่วนที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในเอเชียค่อนข้างมาก แม้ตัวเธอเองก็ตามเมื่อก้าวมาเป็นนักวิจัย ก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ทั้งในเรื่องของงบประมาณ ขาดการสนับสนุน เครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้แต่ความไม่เข้าใจว่าจะทำงานวิจัยกันไปทำไม
“ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่ามาถูกทางหรือไม่ไม่แน่ใจว่ามีคนเห็นคุณค่างานของเราบ้างหรือเปล่า จนกระทั่งได้รับรางวัลทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ก็เป็นแรงกระตุ้นและเป็นกำลังใจที่ดี ทำให้มั่นใจว่า ได้มาถูกทางแล้วและงานวิจัยของเรามีประโยชน์กับผู้อื่น และยังเป็นแรงจูงใจกำลังใจในการทำงานวิจัยที่ดีต่อไป ซึ่งต้องขอบคุณโครงการดีๆ ของลอรีอัลที่สนับสนุนผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องมาถึง 13 ปี เพราะวงการวิทยาศาสตร์ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกำลังใจและแรงสนับสนุนให้นักวิจัยผลิตผลงานต่อไป”
วิธีการเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้ประเทศไทยนั้น แนวทางหนึ่งที่สำคัญ ศ.ดร.พิมพ์ใจ บอกว่า ต้องเริ่มปลูกฝังเรื่องวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ในวัยเยาว์ เพื่อสร้างนักวิจัยเยาวชนที่จะก้าวมาสู่การเป็นนักวิจัยเต็มขั้น
“การปลูกฝังวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยปัจจุบันนี้ในระดับมัธยมมีการส่งเสริมให้มีการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้น้องๆ หรือผู้ที่สนใจทางวิทยาศาสตร์ลองทำโครงงานอย่างง่ายๆ อยากจะให้น้องๆ เริ่มจากตรงนี้ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องทำเพื่อให้ได้รางวัล แต่ให้มองว่าเรามีโอกาสได้ลองเล่น ได้ลองคิด ลองทำ ดูว่าเราสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่อย่างไร ซึ่งการเริ่มด้วยจุดเล็กๆ เหล่านี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีเพื่อสำรวจว่าเราสนใจที่จะเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่ สิ่งสำคัญในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คือ เวลาเรียน นักเรียนควรจะรู้สึกสนุก วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่จับต้องได้เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา สามารถช่วยอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตเราได้ ทำไมถึงมีกลางวัน กลางคืน ทำไมเราถึงเดินได้ ทำไมโยนไข่ดิบลงไปในน้ำเดือดแล้วเราได้ไข่ต้ม เป็นต้น”
ท้ายที่สุด นักวิจัยสตรีคนเก่ง ยังให้ข้อคิดในการก้าวไปสู่ความสำเร็จว่า นักวิจัยไทยต้องคิดให้มากขึ้นว่าควรจะทำวิจัยเรื่องอะไร ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสากล ถึงแม้จะทำวิจัยในประเทศไทย แต่ผลงานก็ต้องอยู่ในมาตรฐานสากล สู้กับต่างชาติได้ และต้องสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อให้มนุษยชาติใช้งานได้ เรื่องการทำวิจัยในหัวข้อที่มีประโยชน์นี้ ไม่ใช่โจทย์สำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยเท่านั้นนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ต้องมีแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน
...นักวิจัยไทยต้องคิดให้มากขึ้น ว่าควรจะทำวิจัยเรื่องอะไร ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสากล ถึงแม้จะทำวิจัยในประเทศไทย แต่ผลงานก็ต้องอยู่ในมาตรฐานสากล...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี