2 นักวิจัยไทยและทีมสำรวจ เตรียมดำน้ำสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยดำน้ำขั้วโลกใต้มาแล้ว ตั้งเป้าศึกษาผลกระทบภาวะโลกร้อน และขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดิน วางแผนสำรวจวันที่ 24 ก.ค.-12 ส.ค.นี้
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “การสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย” โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย นายเวการ์ด โหล์เมลีด รักษาการแทนเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช. และ ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมในการแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จฯเยือนเขตแอนตาร์กติก หรือ ขั้วโลกใต้ ในเดือนมี.ค.2556 และยังเคยเสด็จฯยังเขตอาร์กติก หรือ ขั้วโลกเหนือ ซึ่งพระองค์ทรงพระราชดำริให้นักวิทยาศาสตร์ไทยขยายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยขั้วโลกจากขั้วโลกใต้สู่ขั้วโลกเหนือ เพื่อยกระดับความก้าวหน้าของการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลกให้สูงขึ้นและทัดเทียมนานาประเทศ และยังเปิดโอกาสให้ส่งนักเรียนทุนรัฐบาลไปศึกษาเล่าเรียนในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมความยั่งยืนในงานศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศ
ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา, ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์, รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์, รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์, เวการ์ด โหล์เมลีด, กรรณิการ์ เฉิน ร่วมแถลงข่าว
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย มีบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแกนนำด้วยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์ผ่านการดำน้ำสำรวจเพื่อศึกษาวิจัยในเขตขั้วโลกใต้มากที่สุด จึงเห็นความสำคัญในการขยายผลโครงการสู่การวิจัยขั้วโลกเหนือ ทั้งนี้ คณะสำรวจมีจำนวน 13 คน เป็นนักวิจัยที่มีประสบการณ์ดำน้ำขั้วโลกใต้ 2 คน ได้แก่ รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนิสิตปริญญาเอก เป็นคณะผู้วิจัยหลัก ยังมีฝ่ายสนับสนุน เป็นทีมปฏิบัติการดำน้ำและถ่ายทำสารคดีทางบกและทางน้ำ เนื่องจากคณะสำรวจจะต้องดำน้ำเพื่องานวิจัยในทะเลขั้วโลกเหนือของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและครั้งแรกในการดำน้ำขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของทวีปเอเชีย
ด้าน นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช.กล่าวว่าโครงการสำรวจขั้วโลกเหนือของประเทศไทย เป็นโครงการที่น่าสนใจและมีประโยชน์ ซึ่งเมื่อคณะสำรวจเดินทางกลับมาก็จะมีการรวบรวมข้อมูล จัดพิมพ์หนังสือ สมุดภาพ ที่เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือ เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย เป็นการสร้างความตระหนักรู้ จิตสำนึก และความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพโลก สภาพอากาศ เรื่องภาวะโลกร้อน และขยะพลาสติกทางทะเลที่มีผลต่อมหาสมุทรอาร์กติก เพื่อร่วมกันดูแลสภาพแวดล้อม
ทีมนักวิจัยไทย นำโดย รศ.ดร.สุชนา ชวนิตย์, รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์
สำหรับ 2 นักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะทีมวิจัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการสำรวจครั้งนี้ คือ การศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ทะเลอาร์กติก โดยจะมีการปฏิบัติการดำน้ำเพื่อสำรวจวิจัยใต้ทะเลครั้งแรกของเอเชีย ซึ่งการดำน้ำขั้วโลกเหนือจะแตกต่างจากขั้วโลกใต้ มีการปฏิบัติงานบนเรือทะเลชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด มหาสมุทรอาร์กติก โดยคณะสำรวจจะเก็บข้อมูลสภาพน้ำ สัตว์ ตะกอนน้ำ เพื่อมาทำการศึกษาวิเคราะห์ เป็นข้อมูลเปรียบเทียบสภาพของขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือ มีความเปลี่ยนแปลงเช่นไร และมีการบันทึกภาพถ่ายทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับการสำรวจและวิจัย และนำกลับมาจัดทำหนังสือและสมุดภาพเกี่ยวกับขั้วโลกเหนือเผยแพร่ด้วย
ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิตย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื่องจากภารกิจครั้งนี้จะต้องดำน้ำสำรวจในขั้วโลกเหนือซึ่งเป็นพื้นที่น้ำแข็ง น้ำอุณหภูมิ 0 ถึง-1 องศา มีความเย็นมาก ก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงอุปกรณ์ ชุดดำน้ำ ถึงมือที่ทำให้ร่างกายไม่เปียกน้ำและสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการร่วมมือสนับสนุนเป็นอย่างดี และผู้สนับสนุนร่วมมือในการสำรวจซึ่งผลการศึกษานี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาทั้งหมดแต่ก็นำไปประกอบการศึกษาและเป็นข้อมูลในการวางแผน เมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี