25 เม.ย.61 ที่งานฝึกอบรมการทำข่าวอุบัติเหตุในเชิงรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน (More Untold Stories : Road Safety Journalism Fellowship 2018) ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) อินเตอร์นิวส์ (Internews) และมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP) ณ รร.ไอ-เรสซิเดนซ์โฮเทล สีลม เมื่อบ่ายวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา น.ส.จารุณี จรัสเรืองชัย ผู้แทน AIP และแอดมินเฟซบุ๊คเพจ "ฟ้องป้าเปีย" เปิดเผยว่า ร้อยละ 77 หรือกว่า 3 ใน 4 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
โดยข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) ที่เริ่มเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา พบว่า ในแต่ละปีในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดราว 8,000 ราย และยังไม่เคยลดลงจากนี้ ที่สำคัญคือเมื่อนำตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไปเปรียบเทียบกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มมึนเมาแล้วขับขี่ยานพาหนะ พบว่าสาเหตุการขับเร็วสูงกว่าดื่มหรือเมาแล้วขับกว่าร้อยละ 60
สถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดปี 2560 (เฉพาะในเขตทางหลวง)
ภาพประกอบ : bhs.doh.go.th (สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง)
ขณะที่ พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงตรีแก้ว อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลเช่นปีใหม่หรือสงกรานต์ สาเหตุอาจจะเทไปที่การดื่มหรือเมาแล้วขับค่อนข้างสูงเพราะมีการฉลองกัน แต่หากนับรวมสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งปี การขับขี่ยานพาหนะด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดคือสาเหตุอันดับ 1 และต้องบอกว่าคนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มขับรถเร็ว เพราะขาดความตระหนักถึงอันตรายจากความเร็ว ดังนั้นทุกคนจึงมีโอกาสเป็นอาชญากรบนท้องถนนได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้ มีทฤษฎีหนึ่งที่เรียกว่า "เพียฟ" (PIEV : Perception Intellection Emotion Volition) ซึ่งเป็นการทดลองและได้ข้อสรุปว่ามนุษย์ทั่วๆ ไปมีระยะเวลาในการตัดสินใจเฉพาะหน้าเพียง 1 - 2 วินาทีเท่านั้น เมื่อนำมาเทียบกับการขับรถ เท่ากับว่าวินาทีแรกสมองจะประมวลภาพจากสถานการณ์ตรงหน้า และวินาทีที่สองสมองจะสั่งให้เท้าเหยียบเบรกเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง
โปสเตอร์รณรงค์ "ลดเร็ว ลดเสี่ยง"
ภาพประกอบ : thaihealth.or.th (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ-สสส.)
"คนไทยไม่รู้ว่าคุณตายได้แค่ 2 วินาที ทันทีที่รถจะชนต้นไม้ 2 วินาทีคุณตายแล้ว ถ้าคุณขับรถเร็วเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไม่มีอะไรช่วยคุณได้ คุณคิดว่าไม่คาดเข็มขัด เอามือไปยันก็ไม่อยู่ แขนหัก การขับรถที่ความเร็วตั้งแต่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ถ้าเกิดไปชนอะไรขึ้นมา แรงกระแทกมันจะทำให้เราตาย และคุณทำอะไรแก้ไขอะไรไม่ทัน เพราะมีเวลาแค่ 2 วินาทีมันก็ชนแล้ว" พล.ต.ต.พงษ์สันต์ กล่าว
พล.ต.ต.พงษ์สันต์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นต้องจริงจังด้านการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การติดตั้งป้ายเตือนและกล้องตรวจจับความเร็ว พร้อมกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน อาทิ โรงเรียน ตลาด อย่างไรก็ตามพบปัญหาคือ 1.ขาดแคลนบุคลากร เพราะภารกิจตำรวจจราจรของไทยร้อยละ 80 ไปอยู่กับการจัดการจราจร อย่างกดสัญญาณไฟหรือโบกรถ ต่างจากประเทศเจริญแล้วที่เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนตำรวจจะมีหน้าที่ตรวจตราและจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรเป็นหลัก
กับ 2.ขาดเครื่องมือ โดยเฉพาะกล้องตรวจจับความเร็ว ปัจจุบันในไทยยังมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนรถบนท้องถนน โดยหากไปดูประเทศอย่างสวีเดน พบว่าที่นั่นมีกล้องตรวจจับความเร็วมากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนรถทั้งหมดที่จดทะเบียนในประเทศ ทั้งนี้มีการศึกษายืนยันว่า หากบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ถึงร้อยละ 40
(จากซ้ายไปขวา) : กษริน คริณตระกูล , จารุณี จรัสเรืองชัย , พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงตรีแก้ว
ด้าน นายกษริน คริณตระกูล ผู้แทนจากกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2559 มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อนุกรรมการจัดการจราจรทางบกของจังหวัดมีอำนาจกำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วบนท้องถนน ก่อนแบ่งหน้าที่ตามจุดที่รับผิดชอบ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือกรมทางหลวง ทำการปักป้ายเตือนให้ผู้ใช้รถจำกัดความเร็วบนถนนในความดูแลของตน และให้ตำรวจท้องที่เป็นผู้กวดขันวินัยจราจร
"ตอนมติ ครม.ออกมา เราให้แต่ละจังหวัดไปกำหนดถนน 1 เส้นเพื่อนำร่องจำกัดความเร็ว เช่น จังหวัดมหาสารคาม มีการปักป้ายและตั้งด่าน ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าอุบัติเหตุมันลดลงไป 30 เปอร์เซ็นต์ คนเกรงกลัวมากขึ้น อันนี้แค่ปักป้ายและตั้งด่าน ยังไม่พูดเรื่องกล้องจับความเร็วซึ่งต้องทำเรื่องจัดซื้อขออนุมัติ มันค่อนข้างต้องใช้เวลา แต่ตำรวจสามารถตั้งด่านได้เลย มีอำนาจจับปรับ" นายกษริน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี