การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในหลายประเทศยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างพยายามต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อเอาชนะโรคร้ายนี้ให้ได้
โดยสิ่งสำคัญที่จะสกัดโควิด-19 ให้อยู่หมัดได้ก็คือ “วัคซีน” ที่ตอนนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้เดินหน้าฉีดให้กับประชากรอย่างเต็มที่ โดยข้อมูลจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า ทั่วโลกได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 1,579 ล้านโดส ใน 197 ประเทศ/เขตปกครอง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของประเทศไทย ได้มีการฉีดวัคซีนแล้ว 2,648,256 โดส โดยเป็นการฉีดเข็มแรก 1,726,431 โดส และเข็มที่สอง 921,825 โดส (สถิตินับถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2564)
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ จนทำให้ประชาชนเกิดความกลัวขึ้นมา และได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือกัน
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนาออนไลน์ เรื่อง
“โควิด-19 กับความกลัว : กลัวโควิด กลัววัคซีน กลัวอด” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. เป็นประธานเปิดการเสวนาออนไลน์ มี ศ.กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.), นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมเสวนา
วัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมและคลายข้อสงสัยลดความกังวลใจ เพิ่มความเชื่อมั่นในการเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ใช้ภายในประเทศ และยังรวมถึงการรับทราบผลกระทบและผลข้างเคียง รวมถึงแนวทางแก้ไขทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ จากองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศอย่างแท้จริง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวใน วงเสวนาว่า การแก้ปัญหาและรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ถือเป็นวาระแห่งชาติ โดย วช.ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ในฐานะหน่วยงานบริหารงานวิจัยของประเทศ (PMU) และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้ประเทศเกิดการระบาดโรคโควิด-19 อีกครั้ง จึงต้องมีการควบคุมและป้องกัน ควบคู่กับการเร่งฟื้นฟูสังคม เศรษฐกิจให้กลับมาสู่ระดับเดิมโดยเร็ว รวมถึงการเตรียมนวัตกรรมทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อรองรับการระบาดในระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ หลายประเทศทั่วโลกได้เร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยทุกประเทศได้มีนโยบายในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในประเทศให้เร็วที่สุด ด้วยความปลอดภัยตามมาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้ร่างกายสร้าง Antibody (แอนติบอดี) ต่อเชื้อโควิด-19 การฉีดวัคซีนของทั่วโลกมุ่งหวังว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ เพื่อให้บรรลุผล วช. จึงเน้นงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจในระหว่างการเกิดวิกฤติโรคโควิด-19 เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น
“นอกจากประเด็นการศึกษาอุบัติการณ์ และการดำเนินโรค หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และผู้มีโรคประจำตัว ยังมีการติดตามความปลอดภัย ผลของภูมิต้านทานที่จะเกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีน และยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ การวิจัยดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพิ่มภูมิคุ้มกันทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพให้กับประชาชนในประเทศ” ผู้อำนวยการ วช. กล่าว
ขณะที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญในการลดการระบาด คือการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน เพื่อช่วยป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรง ลดการสูญเสียซึ่งในอนาคตจะมีวัคซีนหลายๆ บริษัทเข้ามา เราจะต้องพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยในอนาคตอาจมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อหยุดยั้งการระบาดได้อย่างมีสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การขจัดความกลัวเกี่ยวกับเรื่องวัคซีน จึงควรเป็นการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
ทางด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความก้าวหน้าเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขการเกิด VITT หรือภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยการใช้ IVIG หลังการฉีดวัคซีน ซึ่งได้รับการอนุมัติแนวทางจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว อีกทั้งมีการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ รวมถึงผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบประสาท ร่วมกับ นายแพทย์เมธา อภิวัฒนากุล จากสถาบันประสาทวิทยา และมีการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน ใน 6 ด้าน อาทิ การสร้าง Vaccine Passport การสื่อสารข้อมูลที่โปร่งใส เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการปรับตัวพร้อมเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยให้ความสำคัญ ด้านข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นโยบายที่ชัดเจน การบริหารงานด้วยหลักวิชาการ และความร่วมมือจากประชาชน
“ขณะนี้กรมการแพทย์ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์การฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มประชาชนผู้ให้บริการด้านคมนาคม อาทิ รถตู้ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมถึงพ่อค้า-แม่ค้า โดยจะเริ่มทดสอบระบบประมาณ 5,000 คน โดยสามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้วันละ 10,000 คนหรือ 300,000 คนต่อเดือน เชื่อว่าจะสามารถเป็นอีกหนึ่ง Outlet ในการช่วยเหลือพื้นที่กรุงเทพมหานคร” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว
ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงนโยบายการให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ด้านโควิด-19 ว่า การวิจัยได้มีการแบ่งการทำงานเป็นระยะต่างๆ โดยยึดหลักการตามองค์การอนามัยโลก(WHO) มีความพร้อมด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถส่งเสริมและต่อยอดให้กับภาครัฐและภาคเอกชนได้ อย่างเช่น การผลิตวัคซีนในไทย ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย Oxford และ บริษัท Astrazeneca ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการผลิตชีววัตถุ และส่งเสริมในเชิงธุรกิจต่อไปได้
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โครงการประเทศไทยในอนาคต ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. สะท้อนให้เห็น
ภาพความกังวลใจในอนาคต ว่า ฐานะทางการคลังจะมีปัญหามากขึ้น การเจริญเติบโตของไทยตกลงเรื่อยๆ ทุกๆ5 ปี ถ้าเฉลี่ยดู พบว่าเศรษฐกิจเคยโตถึง 4% แต่ตอนนี้หล่นลงมาอยู่ที่ 3.8% และ ณ ตอนนี้ เหลือ 3.4% ซึ่งในอนาคตถ้าไม่มีเครื่องจักรทำเงินใหม่ จะยิ่งตกลงเรื่อยๆ
ส่วนด้านการคลัง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหารายได้เพียง 16.28% GDP แต่ประเทศไทยใช้จ่ายไปถึง 18.07%GDP นั้น หมายความว่าทุกปี การคลังของประเทศไทยจะติดลบประมาณ 1.79% GDP และนี่ก็เป็นการสะท้อนว่าในอนาคต ประเทศไทยจะมีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยในระยะยาว
การเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นการสะท้อนมุมมองอีกด้านหนึ่งของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี