ความหมายกว้างๆ ของคำว่า “ประเทศพัฒนาแล้ว” ก็คือประเทศที่มีการพัฒนาในระดับที่สูงเมื่อวัดตามมาตรฐานบางประการ ซึ่งโดยหลักทั่วไปแล้ว จะใช้มาตรวัดทางเศรษฐกิจอาทิ ใช้รายได้ต่อหัวเป็นหลัก และให้ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวสูงอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ ในระยะหลัง ยังมีการใช้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเป็นการรวมเอามาตรวัดทางเศรษฐกิจรวมกับมาตรวัดอื่นๆ เช่น ดัชนีอายุขัย และการศึกษา เพื่อเป็นตัววัดการพัฒนาของประเทศต่างๆ มากขึ้น จึงมีการจัดกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังคงไม่ชัดเจน และเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จะยึดเอามาตรฐานใดเป็นหลัก หรือจะจัดกลุ่มให้ประเทศใดอยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว
โลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ดังนั้น การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ และมีปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์โลกอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ การบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศจึงต้องมีการพัฒนาไปอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ในการประชุมวิชาการระดับชาติภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ประจำปี 2564 (The 2021 National RGJ and RRI Conferences) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยโดยคนวิจัยกับโจทย์ท้าทายในยุควิถีใหม่” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมานั้น
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวแถลงนโยบายในการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ว่า เป้าหมายงานวิจัยและนวัตกรรมคือ การสร้างประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีความเป็นอารยะ
“สำหรับ อว.การที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีการใช้วิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาเป็นแผนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ ใช้ศิลปะวิทยาการทั้งปวง ไม่ใช่สอนหรือเรียนไปตามประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ทำนวัตกรรมเพื่อนวัตกรรมอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้ในศิลปวิทยาการ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ในการขับเคลื่อน หรือเรียกว่าเป็นการ “ดีด” ประเทศไทยให้พ้นจากกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง”
ดังนั้น การทำวิจัยแบบเรื่อยๆ ทุกหัวข้อตามแบบชาติอื่นๆ ก็เหมือนเราเอางบประมาณมาถมในหลุมที่มีจำนวนมาก เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะถมหลุมทุกหลุมให้เต็ม เราต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ต้องมีจุดโฟกัสและต้องไม่พัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องมีเป้าของเราให้ชัดเจน คือ ต้องทำให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 20 ปี แต่สำหรับ อว.ควรทำให้ได้ภายใน 7-10 ปี
“ตัวเลข 7 ปีนี้เอามาจากการที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมหน่วยงาน/สถาบันต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) ที่มีเป้าในการส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า ถือเป็นหมุดหมายที่อยากเห็น ทุกเรื่องต้องตั้งเป็นธงให้ชัดเจน” ศ.ดร.เอนก กล่าว
การออกจากการเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำได้ 2 ทางเรามีดีเอ็นเอ ที่เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อยู่แล้ว ส่วนในเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เราก็ทำได้ดี แต่เราต้องเลิกความคิดที่ว่าต้องพึ่งพาเทคโนโลยีคนอื่น
ศ.ดร.เอนกกล่าวว่า นโยบายของ อว. ไม่ควรเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์ของประเทศกำลังพัฒนา แต่ต้องเป็นนโยบายวิทยาศาสตร์แบบประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1.อย่าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ต้องทำอะไรแบบก้าวกระโดดใหญ่ๆ อะไรที่จะทำให้เราก้าวกระโดดใหญ่ๆ ได้ เราต้องทำ
2.ต้องทำอะไรที่เป็นบายพาส (Bypass) หรือทางลัดให้ได้ การเป็นนักวิทยาศาสตร์ ก็ต้องคิดแบบมียุทธศาสตร์คือ ต้องรบให้ชนะ ไม่ว่าจะเป็นทางเลี่ยง ทางเบี่ยง ทางลัด ก็ต้องหาทางให้ได้
และ 3.เราจะต้องทราบว่าเวลานี้เราอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ซีกตะวันออกมีความสำคัญขึ้นมาก ไม่ใช่ทางตะวันตกเท่านั้น เราต้องใช้ประโยชน์จากการขัดแย้ง และประชันขันแข่งของสองทวีปนี้ให้ได้มากที่สุด
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า อว.เป็นกระทรวงที่เอกอัครราชทูตต่างประเทศ มาพบเป็นอันดับสองรองจากกระทรวงการต่างประเทศเพราะเขารู้ว่าเราทำได้ เขาก็ต้องการมาขาย มาขอความร่วมมือมีบางประเทศที่เขาเก่งและเราละเลยที่ผ่านมา อย่างสวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกประเทศที่มีความน่าสนใจและยังมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“เราต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เราต้องพยายามมองหาสิ่งที่จะพลิกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 5G, 6G, AI ถ้ามีคนที่จะไป 6G เราก็ต้องขยับไปตรงนั้นให้เร็ว เราควรมีการทำงานและคิดข้ามศาสตร์สาขา ต้องกล้าคิดที่จะทำเปลี่ยนความคิดหรือทัศนคติ ให้เชื่อมั่นว่าเรามีอนาคตทางวิทยาศาสตร์ วิจัย เหมือนเรื่องยานอวกาศไปดวงจันทร์ที่คนไทยคิดว่าเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ความจริงเป็นเรื่องที่ไทยเราทำได้” รมว.อว. กล่าว
ทางด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช. มีหน้าที่สำคัญในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยในครั้งนี้ วช. ลงนามความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกกับกรมวิชาการเกษตร และลงนามความร่วมมือการร่วมสนับสนุนทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
“ทั้งสองโครงการนี้ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่างๆ อีกทั้ง เป็นการช่วยสนับสนุนและผลักดันให้นำผลงานไปใช้ประโยชน์ ทั้งมิติวิชาการและมิติสังคม” ดร.วิภารัตน์ กล่าว
ไม่ว่าสุดท้าย ผลที่ออกมาจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่จะมุ่งหน้าดำเนินการอย่างเต็มกำลัง เพื่อประกาศศักยภาพของคนไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่า เราก็มีดีไม่แพ้ใครเหมือนกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี