สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD World Competitiveness Center ประจำปี 2021
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภาพรวมดีขึ้น 1 อันดับ โดยขยับจากอันดับที่ 29 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 28 จาก 64 ประเทศ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ พบว่า โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยในปี 2021 ขยับขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตระหนักและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยที่เพิ่มขึ้น
โดยปัจจัยสำคัญมาจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งประเทศที่เพิ่มจากร้อยละ 1.11 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2020 เป็นร้อยละ 1.14 ของ GDP ในรอบปีสำรวจ 2021 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มขึ้นจาก 4,426 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 เป็น 4,807 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำรวจตัวเลขค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 พบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 193,072 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.14 ของจีดีพี เติบโตขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับปี 2561
ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทของอุตสาหกรรมพบว่าอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1.อุตสาหกรรมอาหาร มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด อยู่ที่ 32,321 ล้านบาท 2.อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 11,958 ล้านบาท และ 3.บริการด้านการเงินและประกันภัย มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่11,579 ล้านบาท
สำหรับจํานวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2562 ผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา รวมทั้งสิ้น 166,788 คน คิดเป็นสัดส่วน 25 คน ต่อประชากร10,000 คน โดยแบ่งเป็นบุคลากรจากภาคเอกชน 115,543 คนและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ (รวมภาคอื่นๆ) 51,245 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 และร้อยละ 31ตามลำดับ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน ในปี 2570
ในส่วนของการประเมินสถานภาพการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศ ปี 2563-2570 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 นั้น ดร.กิติพงค์ กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ภาคเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดทอนค่าใช้จ่าย เพื่อรักษากิจการไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาที่จะถูกพิจารณาปรับลดลงสอวช. คาดการณ์ว่าการลงทุนในด้านนี้ของประเทศไทยจะลดลงเป็นอย่างมากในช่วงปี 2563-2565 และจะลดลงไปสู่จุดที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพีเล็กน้อยและจะกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปแล้วในปี 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันหลายภาคส่วนจะมีความตระหนักและเห็นความสำคัญว่าการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากไม่มีมาตรการที่มาช่วยกระตุ้น ส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐเพิ่มเติมก็คาดว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีการลงทุนในด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 1.46 ของจีดีพี หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 3 แสนล้านบาทซึ่งไม่ถึงร้อยละ 2 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
“แต่ด้วยในปัจจุบันองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสให้กับประเทศในระยะยาวได้ เราจึงยังคงยืนยันในการรักษาเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปี 2570 ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพี ตามเป้าหมายเดิม ภายใต้การมีมาตรการรองรับหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ผอ.สอวช. กล่าวด้วยว่า การคลี่คลายของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลต่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ หากสถานการณ์คลี่คลายเร็ว ภาคเอกชนจะกลับมาลงทุนเร็ว ภาคบริการ การท่องเที่ยว ต้องมีการปรับตัว มีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง และจากแรงกดดันของการทำธุรกิจและการตลาด จะยิ่งหนุนให้ต้องมีการทำวิจัยส่วนในสาขาอาหาร ต้องให้ความสำคัญกับการทำเรื่องอาหารปลอดภัย การขนส่ง การผลิตอาหารสดไปถึงมือผู้บริโภคโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านอุตสาหกรรมการผลิตต้องหันมาใช้ Automation และ AI มากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศน้อยลง
ในช่วงหลังปี 2565-2566 แนวทางในการผลักดันให้ตัวเลขการวิจัยและการพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นได้ในภาพรวมคือ 1.กองทุนต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อม 2.แรงจูงใจทางด้านภาษี 3.การปรับหรือ ปลดล็อกในเชิงกฎระเบียบหรือกฎหมาย ให้การสนับสนุนทุนวิจัยทำได้ง่ายขึ้น
ด้านนโยบายที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน ได้แก่ 1.การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการลงทุน เช่น การสร้างแรงจูงใจทางภาษี 2.เรื่องบุคลากร หากจะทำนวัตกรรมต้องการผู้ที่มีความสามารถเข้าไปช่วย จะต้องปรับเปลี่ยนจากการให้นักวิจัยทำงานในมหาวิทยาลัยทุกวัน ให้มีการเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมด้วย 3.การเงิน ต้องมีระบบสนับสนุนในเชิงการเงิน เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน 4. โครงสร้างพื้นฐานที่ไปสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรม 5.ปลดล็อกกฎ ระเบียบที่ต้องใช้เวลานาน และซับซ้อน 6.สำหรับผู้ประกอบการใหม่ และผู้ประกอบการขนาดเล็ก ต้องมีศูนย์ช่วยเหลือ ทั้งในด้านการตลาดและการระดมทุนและโค้ชช่วยแนะแนวทาง
สำหรับการกระตุ้นการลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ จะเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา ซึ่งสิ่งที่ทำอยู่แล้วคือการให้ทุนกับหน่วยวิจัย อีกส่วนหนึ่งคือการสนับสนุนในบางสาขาที่กลไกตลาดไม่ทำงาน เป้าหมายที่จะเกิดขึ้นหากมีการสนับสนุนในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประเทศไทยให้หลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือครัวเรือนเกษตร ให้มีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 58,000 บาท/ปี ขึ้นมาอยู่ที่150,000 บาท/ปี ช่วยขจัดวงจรความยากจนของคนจนเมืองและช่วยสร้างความยั่งยืนในด้านทรัพยากร และด้านสังคมให้กับประเทศได้
“สอวช. ยังคงเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะสามารถไปถึงเป้าหมายการลงทุนวิจัยและพัฒนาในปี 2570 ที่ร้อยละ 2 ต่อจีดีพีได้อย่างแน่นอน เนื่องจากภาคเอกชนไทยเก่ง และมีกำลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นนอกจากนี้ ยังมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยไทยในด้านวิชาการไม่แพ้มหาวิทยาลัยในภูมิภาค มีหลายอย่างที่เราทำได้เอง โดยสอวช. จะช่วยหนุนในเชิงนโยบาย ผลักดันให้เกิดมาตรการกลไกที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งในส่วนภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก” ดร.กิติพงค์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี