6 ตุลาคม 2567 กรณีน้ำท่วมหนักที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อคนและสัตว์ ซึ่งทางศูนย์บริบาลช้าง ได้สูญเสียช้างลอยตามกระแสน้ำไป 2 เชือก ตามที่เสนอข่าวไปนั้น
ต่อมาเฟสบุ๊คคุณหมอมามี ชื่อ Mamee Kittisirikul หรือ สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง โพสต์กรณีน้ำท่วมปางช้างเชียงใหม่ เป็นเหตุให้เคลื่อนย้ายไม่ทัน ซึ่งทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang ได้แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ระบุว่า
เกริ่นก่อนว่าปางช้างในส่วนแม่แตงมีกว่า 20 ปางที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2-3 เชือกไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมากล้น และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว…
มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ(เปรียบเทียบคล้ายกับฝึกให้น้องหมาเข้าใจการใช้สายจูง คำสั่งลุกนั่งนอน) สามารถขี่-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัยทั้งคนทั้งช้าง + เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก
เมื่อเกิดวิกฤตชาวช้างทุกคนช่วยเหลือกันดีมากๆ ทั้งพี่ควาญช้าง พี่เจ้าของช้าง หมอช้าง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยช้างทุกเชือกให้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ต้องบอกว่าการเข้าช่วยเหลือช้างแต่ละตัวที่ประสบภัยอยู่มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยทั้งต่อคนที่เข้าไปช่วย และช้างที่รอความช่วยเหลือ ยกตัวอย่างข้อจำกัด…
-ช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่าห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ (ซึ่งถ้าช้างเอาจริงก็คือเจ็บหนักกันแน่ๆ)
-ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้
แต่ถึงอย่างนั้นพี่ๆควาญช้างที่มีความชำนาญในการควบคุมช้างก็ระดมคนกันเข้าไปช่วยช้างเหล่านั้นที่ติดอยู่ในคอก (เพราะเกินกำลังที่คนในปางเองจะสามารถช่วยกันพาออกมาได้ ด้วยข้อจำกัดข้างต้น…) และการเข้าหาช้างในจุดที่น้ำท่วมสูง หากเกิดอันตรายตัวคนที่ช่วยเองถ้าหลบไม่ทันก็มีโอกาสบาดเจ็บหนักจากช้าง ยังไม่รวมกับการต้องฝ่าน้ำที่สูงและเชี่ยวเข้าไป
แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะไม่ได้มีต้นเหตุมาจากวิถีการเลี้ยงช้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถีทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้นซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสียๆหายๆ ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี….
การออกมาพูดในเรื่องนี้อยากให้ทุกคนที่เสพข่าวได้มองหลายๆด้าน ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือให้เกิดการพูดคุยกันก็ดีกว่ารอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วทุกคนก็แยกย้าย…จบ
ทุกๆคนก็รักช้างกันทั้งนั้น ถ้าเราช่วยกันตั้งแต่ยามสงบสุขก็อาจจะไม่มาถึงยามทุกข์แบบนี้ก็ได้…
ส่งกำลังใจต่อเนื่องให้ทีมหน้างานทุกท่านนะคะ
เฟสบุ๊ค ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang โพสต์ระบุว่า บันทึกเตือนความจำ
ภัยธรรมชาติที่เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้วนำมาซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ไหลหลั่งลงสู่แหล่งน้ำ จำนวนมหาศาล ไหลบ่าจากป่าสู่เมืองในที่ลุ่มต่ำ ในทางกลับกันเชื่อแน่ว่าไม่ช้าก็เร็วเราน่าจะเจอกับเหตุการณ์ในขั้วตรงกันข้ามคือแล้ง ร้อนสุดโต่งแน่
กันยายนต่อเนื่องถึงตุลาคม ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากต้นน้ำแม่แตง ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่แตง สายน้ำแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติของเชียงใหม่ ที่ตลอดสองข้างลำน้ำมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งปางช้างต่างๆเรียงรายตลอดลำน้ำแม่แตง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจากรายงานของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (๒๕๕๘-๒๕๖๗) พบว่ามีปางช้างถึง ๔๙ ปาง (ช้างจำนวน ๕๔๖ เชือก)
เหตุระทึกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ มวลน้ำจำนวนมากไหลบ่าล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่แตงอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องจนถึงเช้ามืดวันศุกร์ น้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว ช้างส่วนใหญ่ถูกอพยพนำขึ้นไปผูกล่ามไว้ในที่สูง ในขณะที่ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างมากกว่าหนึ่งร้อยเชือก) ของมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม ยังคงสาละวนและพยายามขนย้ายช้างและสัตว์อื่นๆอีกนับพันอาทิ สุนัข แมว แพะ โค กระบือ และสุกร ซึ่งยังคงไม่ทันการณ์ เป็นผลให้มวลน้ำจำนวนมหึมาไหลเข้าสู่ปางช้าง (ระดับน้ำสูงมากกว่า ๑.๕-๒.๐ เมตร เมื่อประเมินด้วยสายตา) การขนย้ายช้างนับร้อย เป็นเรื่องที่ยากและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมากทั้งชีวิตคนและช้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช้างเหล่านี้มิได้ถูกฝึกหรือสื่อสารกับคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิดมาก่อน เราเริ่มจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะพอช่วยเหลือสนับสนุนอะไรได้บ้าง
คณะของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อเช้าตรู่ของวันศุกร์ จากการร้องขอของเจ้าหน้าที่มูลนิธิทางโทรศัพท์ โดยเบื้องต้นรับทราบมาว่าให้ช่วยเคลื่อนย้ายและดูแลช้างเพศผู้ที่ยังอยู่ในคอกแต่ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ระดับน้ำกำลงัเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะทำงานถูกตามตัว รวมทีมและประชุมอย่างเร่งด่วน และออกเดินทางในช่วงสายของวันนั้น
เมื่อแรกไปถึงพบว่าเส้นทางเข้าถึงปางช้างถูกตัดขาด ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การติดต่อด้วยโทรศัพท์ไม่สามารถทำได้ ต้องสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารคลื่นสั้นเท่านั้น คณะจึงต้องรอจนถึงบ่ายแก่ๆจึงได้เรือจากหน่วยกู้ภัย จ.กาฬสินธิ์ ข้ามน้ำเพื่อไปดูช้างตัวผู้ในคอกต่างๆเพื่อประเมินสถานการณ์ เราพบว่าช้างตัวผู้ยังอยู่ครบทั้งสิบเชือก ในสภาพที่ช้างลอยคออยู่ภายในคอก แต่ที่แปลกใจคือยังมีช้างตัวเมียอีกหลายสิบเชือกติดค้างอยู่ในคอกด้วย บ้างก็พิการขาเป๋ ตาบอด และยังทราบอีกว่าช้างอีกหลายเชือกได้สูญหายลอยไปกับน้ำด้วย เมื่อช่วงก่อนหน้า ซึ่งต่อมาพบซากของช้างฟ้าใส(วันเฉลิม)และพลอยทอง เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสียคณะจึงตัดสินใจแบ่งทีมงานออกเป็น ๒ ทีมเพื่อช่วยเหลือช้างให้ครอบคลุมทั้งสองกลุ่มการดำเนินการในภาวะวิกฤติและเร่งด่วนเช่นนี้
โดยหลักการแล้ว หากพบว่าช้างกับควาญสามารถสื่อสารกันได้ก็จะให้ควาญช้างเป็นผู้นำและกำหนดทิศทางการเดินของช้างเพื่อความปลอดภัย เพราะช้างเองมักเดินเฉพาะเส้นทางที่เคยชิน ซึ่งในกรณีนี้ช้างมักคุ้นชินกับการเดินแบบอิสระในทุ่งกว้างที่อยู่ติดกับน้ำแม่แตง ที่กำลังไหลเชี่ยว นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ช้างเหล่านี้จะต้องมีควาญเป็นผู้ควบคุมทิศทาง
ในกรณีช้างเพศเมียหรือช้างที่ไม่ดุร้าย
หากช้างกับควาญมิได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน หรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ในทางทฤษฎีที่มีการเคลื่อนย้ายช้างป่ามักวางยาซึมและนำทางด้วยผ้าพรางแสงตลอดทางเดินเพื่อนำช้างไปยังจุดที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้มีน้ำท่วมสูงจึงค่อนข้างเสี่ยงที่จะวางยาซึม (ยาซึมช้างมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้งวงตกลงสู่พื้น) โดยในวันนั้นคณะทำงานที่ประกอบด้วยสัตวแพทย์ ควาญช้างจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ควาญพี่เบิ้ม(ปางที่อยู่ติดกัน) และภัทรฟาร์ม ซึ่งมีความชำนาญ ร่วมกับควาญช้างของมูลนิธิช่วยกันควบคุมและกำหนดเส้นทางด้วยเชือกให้ช้างเดินไปยังจุดที่ปลอดภัย แต่ก็ทุลักทุเลพอควรด้วยเพราะควาญกับช้างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง วันนั้นทีมเราช่วยเหลือช้างตัวเมียได้บางส่วนจนกระทั่งมืดค่ำจึงยุติภารกิจในเวลา ๑๙.๓๐ น.
ในกรณีช้างเพศผู้ เราไม่สามารถวางยาซึมช้างในขณะที่ยังอยู่ในน้ำได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ทีมงานได้รับพบว่าช้างทุกเชือกไม่เคยผ่านการฝึกและบางเชือกมีประวัติทำร้ายคนมาก่อน จึงเกิดคำถามว่าหากเคลื่อนย้ายออกมาได้แล้วจะนำช้างไปผูกล่ามอย่างไร ที่ไหน ทั้งในภาวะซึมหรือปกติ ด้วยเพราะช้างไม่คุ้นเคยกับคนหรือช้างใดๆ ช้างแต่ละเชือกอยุ่ตัวเดียวในคอกมานาน ซึ่งจากการประเมินพบว่าช้างทุกเชือกยังมีสภาพร่างกายปกติ (ยกเว้นพลายขุนเดชที่บาดเจ็บที่ขาหน้า) ดังนั้นจึงใช้วิธีวางแท่นพยุงให้ช้างสามารถใช้งวงยึดพยุงมิให้จมน้ำ หากพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะจากประสบการณ์ตรงของคณะทำงานพบว่าช้างมักลอยน้ำและอยู่ในน้ำได้นานถึง ๒ วัน ๑ คืนในสภาพน้ำนิ่ง โดยไม่เกิดอันตราย ซึ่งจากสภาพช้างภายในคอกพบว่ากระแสน้ำยังคงไหลแต่ไม่เชี่ยวมากนักเมื่อเทียบกับในลำน้ำ ช้างน่าจะยังพอพยุงตัวเองไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเพราะธรรมชาติของน้ำทางภาคเหนือมักมาเร็วไปเร็ว ไม่น่าจะท่วมนาน เราจึงกำหนดให้ทำแพต้นกล้วยไว้ให้ช้างเพื่อช่วยพยุง ต้นกล้วยยังเป็นอาหารและมีน้ำช่วยประทังชีวิตให้ช้างได้อีกด้วย ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังพลายขุนเดชเป็นพิเศษ
โชคดีในช่วงเย็นของวันเดียวกันระดับน้ำเริ่มลดระดับลง เป็นสัญญาณว่าน้ำน่าจะลดลงเป็นปกติในไม่ช้าวันรุ่งขึ้นระดับน้ำลดลง เหลือเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ช้างเพศเมียถูกเคลื่อนย้ายขึ้นที่สูง ช้างตัวผู้ยังอยู่ในคอกของตัวเอง แต่ทุกตัวยังมีชีวิตอยู่แม้บางเชือกอาจแสดงอาการอ่อนเพลียบ้าง ดังนั้นการฟื้นฟูสุขภาพกาย และสภาวะจิตใจของช้างและควาญจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโรคต่างๆที่มาหลังน้ำท่วม ก็ดี น้ำป่าที่อาจเข้าสู่ร่างกายช้างในช่วงก่อนหน้าทั้งทางเดินหายใจ ทางเดินอาหารก็ดี ดินโคลนที่มีรสชาดเย้ายวนต่อการลิ้มลองของช้างก็ดี หรือแม้กระทั่งอาหารที่อาจปนเปื้อน ที่ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บป่วยของช้างเหล่านี้ได้ และสภาพจิตใจของช้างที่อาจตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เหล่านี้จำเป็นต้องฟื้นฟูและเฝ้าระวังกันต่อไป
สรุปยอดรวมช้างในปางก่อนเกิดเหตุ จำนวน ๑๑๘ เชือก ภายหลังน้ำลด พบช้างเพศเมีย ๑๐๖ เชือก เป็นช้างเพศผู้ ๑๐ เชือก สูญหายและเสียชีวิต ๒ เชือกวันนี้ฝนตกเบาบางลงแล้ว แต่หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันอีก การเรียนรู้บทเรียนและเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งของปางและผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ
แม้ในวันนี้ช้างบ้านของไทยจะมีสถานะเป็นทรัพย์สินของผู้ถือครองตามกฎหมาย (พรบ.สัตว์พาหนะ ) แต่จากเหตุการณ์หลายๆครั้งที่ผ่านมา ล้วนกระทบจิตใจคนไทยส่วนใหญ่ หลายส่วนยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านพึงตระหนักให้ดีว่า "ช้าง" มีสถานะยิ่งกว่าทรัพย์สิน แต่เขาคือสิ่งที่มีคุณค่า ที่สูงค่าอันประเมินมูลค่ามิได้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยเราทุกคน
ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างกรณี ควาญแบงค์ พลายน้ำแตง ตามข่าวที่หลายๆสื่อนำเสนอไปแล้วนั้น ควาญช้างที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ สามารถช่วยช้างที่ลอยไปตามกระแสน้ำขึ้นมาปลอดภัย แม้ว่าช้างเชือกดังกล่าวจะไม่มีความคุ้นชินกับควาญแบงค์เลยก็ตาม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี