20 พ พ.ค.57 นายไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานคุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า นางสุทธิศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ได้หารือถึงข้อเสนอของผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. เกี่ยวกับระบบผลิตและพัฒนาครู โดยเฉพาะการผลิตครูช่างป้อนสายอาชีวศึกษา ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนครูเฉพาะด้านที่มีคุณสมบัติพิเศษจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้คุรุภาก็ให้ความสำคัญ และได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อทบทวนกระบวนการเข้าสู่วิชาชีพครูทั้งหมด โดยจะดูว่าคนที่เข้าสู่วิชาชีพครูมีกลุ่มใดบ้าง และเข้าสู่วิชาชีพครูโดยวิธีใด
ขณะเดียวกัน ปลัดศธ. ยังรับจะรวบรวมข้อมูล ในเรื่องที่อยากให้คุรุสภาพิจารณาปรับปรุงมีอะไรบ้าง อาทิ สาขาขาดแคลนในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รวมถึงครูในสาขาขาดแคลนอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมานายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรักมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็เคยหารือกับตนโดยตรงว่า ไม่อยากให้มองข้ามผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาขาดแคลนเหล่านี้ และอยากให้เปิดช่องให้คนเหล่านี้มาเป็นครูได้ง่ายขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์ต่างๆ ของคุรุสภา อาจจะยากและซับซ้อนเกินไปทำให้ไม่อยากมาสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า หลักเกณฑ์การเข้าสู่วิชาชีพครูของคุรุสภาขณะนี้ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว ดังนั้น จึงอาจจะทำการศึกษาวิจัยหาเหตุผลที่แท้จริง โดยเฉพาะคนที่เป็นครูอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ว่ามีเหตุผลอะไรที่ไม่เข้าสู่วิชาชีพเต็มตัว เพราะถ้าเขาอยากเป็นครูจริง ๆก็ควรปรับตัวให้เข้าสู่วิชาชีพ
“ส่วนที่เสนอให้มีช่องทางพิเศษ เฉพาะสาขาที่ขาดแคลนนั้น ผมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ผิดกฎหมาย การให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมีพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำกับอยู่ ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือต้องมาหารือกันว่าคนที่อยากเข้าวิชาชีพครูเพราะอะไร และที่ไม่อยากเข้าเพราะอะไร แต่คุรุสภาจะไม่ปรับหลักเกณฑ์ให้วิชาชีพครูอ่อนแอลง เพราะที่ผ่านมาวงการครูถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในทางไม่ดีอยู่แล้ว”นายไพฑูรย์ กล่าว
ประธานคณะกรรมการคุรุสภา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้การรับรองประกาศนียบัตรทางการศึกษา ในสถานที่ตั้ง ปีการศึกษา 2557 ของ 8 สถาบันการผลิตครู 11 หลักสูตร ดังนี้
1.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพฯ รับนักศึกษา จำนวน 180 คน
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2557) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ รับนักศึกษาจำนวน 30 คน
3.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จ.เชียงใหม่ รับนักศึกษาจำนวน 100 คน
4.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรุงเทพฯ รับนักศึกษา 180 คน
5.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม รับนักศึกษา 180 คน
6.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพฯ รับนักศึกษา 120 คน
7.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556)มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จ.เชียงใหม่ รับนักศึกษาจำนวน 180 คน
8.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รับนักศึกษาจำนวน 120 คน
9.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี รับนักศึกษาจำนวน 180 คน
10.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2557) มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ของแก่น และ
11.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2556) มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี
โดยมีหลักเกณฑ์ว่าแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะรับนักศึกษาได้ไม่เกิน 180 คน และรับห้องละไม่เกิน 30 คน และเก็บค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรวงเงินไม่เกิน 35,000 บาท ต่อปี
ซึ่งคุรุสภาได้มีการรับรองครั้งนี้เป็นครั้งแรก 8 มหาวิทยาลัย และในเดือนมิ.ย.นี้ คุรุสภาจะรับรองสถาบันผลิตครูเพิ่มเติมอีก ประมาณ 30 สถาบันด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี