มติสพฐ.แนะใช้ห้องสมาร์ทคลาสรูม แทนแท็บเล็ตเร่งสรุปข้อมูลชงคสช.
วันจันทร์ ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557, 18.10 น.
Tag :
23 มิ.ย. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกมล รอดคล้าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงการจัดการเรียนการสอน โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมได้เชิญ 10 หน่วยงานที่มีงบประมาณในการจัดซื้อแท็บเล็ต รวมถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที มาหารือ ตามที่ฝายสังคมจิตวิทยา คสช. มอบหมายให้ สพฐ.หารูปแบบการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน ในรูปแบบอื่น ๆ มาแทนการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนเป็นรายบุคคล
โดยในวันนี้ที่ประชุมมีมติให้จัดทำเป็นห้องสมาร์ทคลาสรูม ตามรูปแบบที่สพฐ. เสนอ และหน่วยอื่นก็จะใช้รูปแบบดังกล่าวนี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำด้วย และเปลี่ยนชื่อจากโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน เปลี่ยนใหม่เป็น โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา แทน
นายกมล กล่าวต่อว่า สำหรับ รูปแบบการจัดสร้างห้องสมาร์ทคลาสรูมในรูปแบบใหม่ที่สพฐ.เสนอนี้ จะใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานระดับดี เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาที่มีมาตรฐานทัดเทียมกับไอแพท หรืออาจจะใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ที่แยกมาเป็นแท็บเล็ตได้ โดยราคาท้องตลาดตกเครื่องละประมาณ 12,000 บาท แต่หากสพฐ.ซื้อจำนวนมาก ราคาน่าจะอยู่ที่เครื่องละ 8,500 บาท ทั้งนี้ ห้องสมาร์ทคลาสรูป จะแบ่งเป็น 3 ขนาดเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียน คือขนาดเล็ก จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ประมาณ 20 เครื่อง งบประมาณห้องละ 300,000 บาท ส่วนขนาดกลาง จำนวน 40 เครื่อง ใช้งบประมาณ 400,000 บาท และขนาดใหญ่ จำนวน 50 เครื่อง ใช้งบประมาณ 600,000 บาท
“จากนี้คณะทำงานก็จะสรุปข้อมูลเสนอให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาก่อน ภายในสัปดาห์นี้ หากคสช.เห็นชอบให้ใช้ห้องสมาร์ทคลาสรูม ทั้ง 10 หน่วยงานก็จะไปทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบฯ
โดย สพฐ.ก็จะขอ 2557 และขอกันงบฯปี 2556 ส่วนที่เหลือจากการจัดซื้อแท็บเล็ต โซนที่ 4 ม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,170 ล้านบาท มาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าในปีแรกจะสามารถสร้างสมาร์ทคลาสรูมได้ประมาณ 15,000 โรงเรียน สำหรับโรงเรียนสังกัดสพฐ. หากรวมทุกสังกัดแล้วน่าจะได้ประมาณ 20,000 โรงเรียน" นายกมล กล่าว
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ทางกระทรวงไอซีที ได้เตรียมงบประมาณ จำนวน 3,000 ล้านบาท ในการวางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เข้าไปยังโรงเรียนที่จะจัดทำห้องสมาร์ทคลาสรูม เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างงเต็มที่