คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจทำการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาต่างๆ มาครบ 1 เดือนไปเรียบร้อยเมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนนี้เริ่มก้าวย่างสู่เดือนที่ 2 โดยผลงานเดือนแรกที่เข้ามากอบกู้วิกฤติชาติ ได้รับคะแนนความชื่นชมสูงมาก ดูได้จากผลสำรวจโพลล์หลายสำนัก
อย่างสวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อ “ผลดำเนินงาน 1 เดือนของคสช.” ปรากฏว่า มีการให้คะแนนสอบผ่านสูงถึง 8.82 จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ความพึงพอใจต่อ คสช.ในการบริหารประเทศสูงถึงร้อยละ 90 จำแนกเป็นพึงพอใจมาก 50.84% กับค่อนข้างพึงพอใจ 39.57% มีที่ไม่ค่อยพึงพอใจแค่ 5.27% และไม่พึงพอใจเลย 4.32%
หรืออย่างนิด้าโพลล์สำรวจพบประชาชนสวนใหญ่ถึง 41.30% ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างรายชื่ออื่นๆ ทั้งอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ที่ได้ 8.5% ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ 2.38% ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 1.43% และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 1.19% เป็นต้น อันเป็นดัชนีชี้วัดได้ดีว่า ประชาชนพอใจกับผลงานของหัวหน้าคสช.ผู้นี้มากขนาดไหน
ผลงานเดือนแรกของ คสช.เข้าตาประชาชน เพราะส่วนใหญ่พอใจที่ทำให้บรรยากาศบ้านเมืองกลับมาสงบสุขดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาสำคัญไปได้หลายเรื่อง เช่น ช่วยชาวนาให้ได้รับเงินค่าจำนำข้าวที่อดีตรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ติดค้างชาวนานับล้านครอบครัวมานานกว่า 6-7 เดือน ทั้งดำเนินการต่างๆ อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด ฯลฯ ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากให้คสช.ดูแลบ้านเมืองต่อไป จนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเข้าที่เข้าทาง และยังฝากความหวังการแก้ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่อีกมาก รวมถึงปัญหาในส่วนของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ผลสำรวจนิด้าโพลล์เรื่อง“คสช.กับการแก้ไขปัญหาชาวนา” พบว่า ความคาดหวังต่อคสช.ในการช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่า เกษตรกรจะต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง รองลงมาเป็นเรื่องการลดต้นทุนการผลิต, การช่วยให้เกษตรกรไม่มีหนี้สินและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตลอดจนมีแหล่งหรือตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผล รวมทั้งการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และ ช่วยให้ราคาสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น เป็นต้น
ข้อน่าสังเกตคือ ความคาดหวังอันดับแรกนั้น สะท้อนว่า ผู้คนล้วนเล็งเห็นกันอยู่ว่า ที่เกษตรกรทุกข์ยากจนอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยก็คือ การถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกดราคารับซื้อผลผลิต หรือการขูดรีดด้วยการขายปุ๋ย ขายสารเคมีเกษตรในราคาแพง โดยเฉพาะการขายแบบ “สินเชื่อ” เป็นสาเหตุสำคัญทำให้ต้นทุนการผลิตสูงและหนี้สินที่ตามมา...ซึ่ง คสช.มีอำนาจที่เด็ดขาดในมือ น่าจะจัดการแก้ไขเรื่องนี้ได้ดีกว่าระบบราชการปกติที่เฉื่อยแฉะแบบที่เป็นมา
อีกปัญหาใหญ่หนึ่ง คือ การที่เกษตรกรขาดที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จนต้องเช่าที่ทำกินเป็นเหตุให้มีต้นทุนการผลิตสูง และที่น่าห่วงกว่านั้นก็คือ เกษตรกรที่มีที่ทำกินอยู่เดิม แต่เพราะทำการเกษตรแล้ว มีแต่หนี้สิน ทำให้มีแนวโน้มที่จะสูญเสียที่ดินทำกินสูงขึ้นเรื่อยๆ
เอ็นจีโออย่าง “โลโคลแอค” หรือกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน ซึ่งทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรไร้ที่ดิน เพิ่งรายงานผลศึกษา “ภาวะหนี้สินที่ส่งผลต่อการสูญเสียที่ดินของชาวนาภาคกลาง” พบข้อมูลน่าห่วงว่า เกษตรกร ชาวนามีหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ และเสี่ยงสูงที่จะถูกยึดที่ดินทำกิน
ผลศึกษาพบชาวนามีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นถึง 65 ปี และเสี่ยงจะขาดการสืบทอดอาชีพชาวนา ขณะที่ภาวะหนี้สินสูงมากขึ้น เกิดจากไร้ที่ทำกินและต้นทุนการผลิตสูงเพราะ 45-85% ต้องเช่าที่ดินทำนา จ่ายค่าเช่าสูงถึงไร่ละ 1,500-2,500 บาทต่อรอบการผลิต คิดเป็น 20-25% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วนต้นทุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีมีสัดส่วนรวมกัน 30-45% อีกทั้งการที่นายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ทำให้เกิดภาวะที่ดินกระจุกตัว และมีชาวนาไร้ที่ดินเพิ่มมากขึ้น
เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน แม้คสช.คือความหวังใหม่ของเกษตรกร แต่การหวังรอให้ผู้มีอำนาจมาช่วยเท่านั้นคงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเกษตรกรเอง จะต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองให้มากที่สุดด้วย
สาโรช บุญแสง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี