เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่อาคารนวัตกรรมฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ประสานมิตร กลุ่มนักวิชาการนักการศึกษาภาคประชาสังคม ได้จัดประชุมหารือแนวทางข้อเสนอปฏิบัติการศึกษา (ระยะสั้นและระยะยาว) เพื่อส่งมอบต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มนักวิชาการ นักการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วม
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมศว.กล่าวว่าการปฎิรูปการศึกษา เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาตลอด เพียงแต่ที่ผ่านมามีบางเรื่องที่ทำได้และบางเรื่องทำไม่ได้ แต่ครั้งนี้เป็นภาวะพิเศษ ดังนั้น ตนจึงอยากเสนอให้ทำในเรื่องที่ถ้าเป็นภาวะปกติไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่จะวางระบบ โครงสร้างที่สำคัญเพื่อให้การดำเนินงานต่างๆต่อไปได้หลังจากที่มีการเลือกตั้ง หรือมีรัฐบาลชุดปกติแล้ว ดังนี้ 1.จัดตั้งสภาเพื่อคณะกรรมการปฎิรูปการศึกษา เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการศึกษาตามแผนต่างๆ ที่ต่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่แล้วก็ไม่มายุ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนต่างๆ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันองค์กร 2.จัดตั้งหน่วยงานหรือสถาบันวิจัยระบบการศึกษา 3. จัดตั้งกองทุนที่ออกพันธบัตรเพื่อสังคมหรือการศึกษา (Social/Education Bond) โดยผู้ซื้อคือเอกชนที่จะทำCSR 4.ออกกฎหมายนำเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่มีผู้มารับ และ/หรือ บัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน มากกว่า 15 ปี มาจัดตั้งกองทุน สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)ดำเนินการได้ โดยใช้เฉพาะดอกผล หรือดอกเบี้ยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินต้น 5.ปรับปรุงระเบียบให้การทำงานรับใช้สังคมในชนบท ถือเป็นการทดแทน การเกณฑ์ทหารของชายไทย เช่น ชายไทยที่ไม่อยากเกณฑ์ทหาร แต่มีความรู้ความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ หรือสาขาวิชาต่างๆ อาสาไปสอนหนังสือในชนบท เป็นต้น 6. พิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพราะจากการหารือในส่วนของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ และมหาวิทยาลัยราชมงคล ต่างเห็นตรงกันว่า การประเมินคุณภาพภายนอกของสมศ. เป็นการเพิ่มภาระงานให้แก่สถาบันการศึกษา เป็นอุปสรรค ภาระในการจัดการศึกษา 7. ผลักดันพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยของรัฐที่จะออกเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และ8.สนับสนุนสื่อน้ำดีบางส่วนด้วยการออกระเบียบให้งบประมาณเสริมจนสื่อน้ำดีสามารถอยู่ได้ แข่งขันได้ในภาคธุรกิจ
ศ.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่า ระบบการศึกษาของไทยเหมือนกับท่อน้ำที่ดูแลเฉพาะเด็กที่อยู่ในท่อ 2-3ล้านคน โดยลืมไปว่ายังมีเด็กอีกประมาณ 30-40 ล้านคน ที่อยู่ค้างท่อ หรือออกจากระบบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน อีกทั้งตอนนี้เราสนใจแต่เรื่องวุฒิการศึกษาไม่ได้ดูว่าจะเอาความรู้อะไรไปทำงาน ทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษายาวนานถึง16 ปี ใช้งบประมาณมาก ก็ยังได้คนไม่มีคุณภาพ โจทย์ใหญ่ของปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้ อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในท่อและนอกท่อเป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ ซึ่งทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในส่วนของภาคท้องถิ่น ชุมชน เอกชน ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา พัฒนาปรับปรุงหลักสูตร เตรียมคนออกไปสู่ตลาดแรงงาน และอัพเกรดคนในวัยทำงานให้มีคุณภาพดีที่ขึ้น รวมถึงควรจะมีการพัฒนากลุ่มคนผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สามารถทำงาน ฝึกอาชีพได้ นอกจากนั้นในเรื่องของการศึกษาอยากให้รัฐบาลถ่อยออกห่าง ๆแล้วเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัดศธ.) กล่าวว่า การประชุมหารือครั้งนี้ทำให้ได้ข้อเสนอมากมาย ซึ่งศธ.จะรวบรวมข้อเสนอต่างๆนี้มาสรุปรวมเข้ากับแผนที่ศธ.กำหนดไว้ก่อนจะเสนอ คสช.ต่อไป ซึ่งการปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้ ศธ.อยากให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น องค์กรหลักของศธ. หรือจะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.นี้ เพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมในการดำเนินการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษา
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า แนวทางการปฎิรูปการศึกษานั้นกระทรวงศึกษาธิการ และการประชุมในกลุ่มต่างๆ ควรจะนำเสนอไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น การหารือครั้งนี้ ทางสถาบันฯ จะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดโดยทิศทางหลักๆ จะมุ่งเน้นในเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การตั้งสภาปฎิรูปการศึกษา เพื่อให้การดำเนินการปฎิรูปการศึกษาในระยะยาวเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ นอกจากนั้นการปฎิรูปการศึกษา ต้องให้โรงเรียน ผู้บริหาร ครูเข้ามามีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นต่อให้มีแผนมากมาย แต่ครู โรงเรียนยังดูไม่ออกว่าจะปฎิรูปอย่างไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี