ชะลอประเมินมหา’ลัยรอบ4 ยันยุบ'สมศ.'ไม่คืนความสุขให้ครูอาจารย์
วันจันทร์ ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557, 15.10 น.
Tag :
4 ส.ค.57 นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (ผอ.สมศ.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งกำกับดูแลสมศ. ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ตนได้รายงานผลการดำเนินงานของสมศ.ในไตมาสที่ 3 และภาพรวมการประเมินสถานศึกษาในรอบที่3 โดยภาพรวม ระดับอุดมศึกษาอาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ทำการประเมินไปแล้วกว่า 90% เหลือเฉพาะศูนย์เด็กเล็กที่เพิ่งประเมินไปได้เพียง 20% เนื่องจากเพิ่งได้รับงบประมาณเมื่อพ.ศ.2556 และคาดว่าจะบรรลุตามเป้าหมายภายในสิ้นปีงบประมาณ 2557 นี้
นอกจากนั้น ยังได้ชี้แจงร่างตัวบ่งชี้ การประเมินรอบ 4 ที่จะใช้ประเมินสถานศึกษาตั้งแต่พ.ศ. 2559-2563 โดยชี้ให้เห็นว่า ตัวบ่งชี้ของสมศ. ยึดตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา และพันธกิจของมหาวิทยาลัย ซึ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สมศ. นำมาพัฒนาตัวบ่งชี้ วิจัยและวิเคราะห์ร่วมกับผลการประเมินตั้งแต่รอบ 1 -3 ตามหลักสากล โดยหลักๆ การประเมินจะประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ คุณภาพศิษย์ คุณภาพครู ธรรมาภิบาลและการบริหาร ความสัมพันธ์สังคมชุมชน อัตลักษณ์ และมาตรการส่งเสริม ซึ่งนายอดุลย์ สนใจและขอให้เน้นอัตลักษณ์เอกลักษณ์ให้ชัดเจน อาทิ คุณสมบัติของศิษย์ ที่ควรจะต้องเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม ที่ควรจะต้องส่งเสริมให้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ โดยครูควรจะเป็นต้นแบบและสอนให้เด็กเป็นไปตามที่คาดหวัง ส่วนของเอกลักษณ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ ก็เน้นว่าจริง ๆ แล้วมหาวิทยาลัยควรจะมี ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มากกว่าที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในทุกสาขา ดังนั้นจึงน่าจะตรวจสอบให้แน่ชัดว่ามหาวิทยาลัยไหน มีความเชี่ยวชาญด้านใด ขณะเดียวกันสมศ.ยังเดินหน้าพัฒนาผู้ประเมินให้มีคุณภาพ และให้ตรงตามสาขาวิชาชีพมากขึ้น โดยมีการประเมินการทำงานของผู้ประเมินด้วย
“ส่วนกรณีที่คสช. สั่งให้ชะลอตัวบ่งชี้รอบ 4 ไปนั้น สมศ.ก็เห็นชอบกับคำสั่งของคสช. ที่ชะลอการประกาศตัวบ่งชี้การประเมินรอบ 4 ระดับอุดมศึกษา ไปจนกว่าจะได้รัฐบาล และเสนอตัวบ่งชี้ดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก่อนประกาศใช้ต่อไป แต่จริง ๆ และขณะนี้สมศ. ก็ยังเปิดรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม เพื่อจะได้สรุปประเด็นต่าง ๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมศ. ในวันที่ 26 สิงหาคม นอกจากนั้นตามที่มหาวิทยาลัยต่าง เรียกร้องให้ประเมินตามบริบทของมหาวิทยาลัย นั้น สมศ. ยินดี และขอให้มหาวิทยาลัยทั้ง 4 กลุ่ม คือที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ (ทอมก.) และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) เสนอประเภทของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งระบุว่ามหาวิทยาลัยใดจะอยู่ในประเภทไหน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะที่กำกับดูแลเห็นชอบ โดยสมศ. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารสมศ. ในคราวเดียวกัน “นายชาญณรงค์ กล่าว
ผอ.สมศ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของสถาบัน อาชีวศึกษาเอกชน และสถาบันการอาชีวศึกษารัฐ ที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี ขอให้ชะลอการประเมินรอบที่ 4 ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมนั้น ในส่วน สถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี คงไม่น่าห่วง เพราะตัวบ่งชี้ยังไม่เสร็จสิ้น ปกติเวลาทำตัวบ่งชี้สมศ. จะทำตัวหลักๆ ในส่วนของอุดมฯ อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกนั้นให้ใช้มาตรการเทียบเคียง ซึ่งปลายเดือนนี้จะหารือในส่วนของมาตรการเทียบเคียง ในส่วนของอาชีวศึกษาเอกชน คงต้องมาดูว่า ประเด็นปัญหาที่ให้ชะลอจริง ๆ คืออะไร สิ่งเหล่านี้พูดออกมาด้วยอารมณ์ไม่ได้ สมศ.ต้องดูแลคุ้มครอบผู้บริโภคให้นักเรียนผู้ปกครองได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้นแทนที่จะชะลอให้ช้าควรจะเร่งให้เร็วขึ้นมากกว่า
นายชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีผู้เสนอให้ยุบสมศ. นั้น ไม่ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้ แต่หากจะบอกว่าให้ยุบสมศ. แล้วเป็นการคืนความสุขให้ครูอาจารย์ คงเป็นการมองด้านเดียว เพราะปัจจุบัน การประกันคุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินคุณภาพ จึงยืนยันว่าสมศ. ยังจะคงเดินหน้าทำหน้าที่ตามบทบาทที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไป