สมศ.ชี้แจงความสำคัญของการประเมินคุณภาพ
ยืนยันเพื่อสร้างครูไทยให้มีประสิทธิภาพในอาเซียน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยถึงการทำงานของ สมศ.ว่า ในปี 2558 ประเทศไทยมีจำนวนครูอาจารย์ทุกระดับชั้นกว่า 660,000 คน จำนวนสถานศึกษาทุกประเภท 38,010 แห่ง และจำนวนนักเรียน นักศึกษาทุกระดับชั้นกว่า 13 ล้านคน โดยสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการศึกษาโดยตัวแปรสำคัญในการสร้างมาตรฐานการศึกษาคือ สถานศึกษาและคณาจารย์ โดยที่ผ่านมา กฎหมายกำหนดให้มีหน่วยงานอิสระภายนอกทำการประเมินมาตรฐานการศึกษา ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ทำหน้าที่ในการสะท้อนคุณภาพของสถานศึกษา โดยประเมินผ่าน ผู้เรียน ครู และผู้บริหาร ฯลฯ ให้เห็นภาพรวมคุณภาพการจัดการศึกษาทั้ง 4 มาตรฐานตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ผลการจัดการศึกษา การจัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การบริหารจัดการ และการประกันคุณภาพภายใน ซึ่งใช้เวลาในการประเมินสูงสุดเพียง 3 วัน ในทุกๆ 5 ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 5 ชั่วโมงต่อปี โดยกระบวนการประเมินของ สมศ. ในวันที่ 1 จะเริ่มจากการชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประเมิน หลังจากนั้นตลอดทั้ง 3 วัน จะเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสังเกต สัมภาษณ์ และตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารหลักฐานและระบบสารสนเทศ ในวันสุดท้ายเป็นการรายงานผลประเมินด้วยวาจาโดยบอกจุดเด่น จุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษา ให้ข้อเสนอแนะ และชี้ทิศทางการพัฒนาสถานศึกษาต่อบุคลากรในสถานศึกษานั้นๆ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินดังกล่าว สมศ. ตระหนักถึงความแตกต่างของความพร้อมของสถานศึกษา โดยต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่สถานศึกษาบางแห่งยังขาดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาภายใน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อการสร้างความพร้อมในระยะยาวของระบบการศึกษาไทย สถานศึกษาโดยเฉพาะคณาจารย์ ต้องให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานของสถานศึกษาในทุกมิติ ซึ่งจะสะท้อนถึงศักยภาพของลูกศิษย์ อันจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งนี้ สมศ. จึงแนะนำ 5 วิธี สู่การเป็นครูในบริบทของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ 1.การพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษา อันได้แก่ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดเป็นระบบ ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี 2.การจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ 3.การบริหารจัดการการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมและเป็นระบบ 4.การร่วมกันวางแผนและร่วมกันปรับปรุง ร่วมกันปฏิบัติตามแผนร่วมกันตรวจสอบประเมินผล โดยใช้ผลจากการประเมินมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 5.การใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการตนเอง การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวทันโลก และนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปีของการจัดตั้ง สมศ. สถานศึกษาเกิดการรับรู้ ผู้บริหาร ครู เริ่มตื่นตัว มีความเข้าใจการประเมินที่ดีขึ้น ได้สะท้อนผลด้านจุดแข็ง จุดบกพร่อง เสนอแนะทิศทางสู่เป้าหมายการจัดการศึกษา เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนเพื่อการพัฒนาให้กับสถานศึกษาโดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างคนคุณภาพเพื่อที่จะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพให้การสร้างการแข่งขันให้กับประเทศไทย เพื่อให้สถานศึกษาได้นำผลการประเมินไปวางแผนพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งสถานศึกษา โดยตัวอย่างของสถานศึกษาที่นำผลการประเมินไปปรับปรุงเพื่อการพัฒนา อาทิ โรงเรียนบ้านกลาง จังหวัดชุมพร (สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1) วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
“ปัจจุบัน ครูไทย นอกจากการเตรียมการสอน การพัฒนาระบบการสอน การให้คำปรึกษานักเรียนนักศึกษา การประกันคุณภาพภายใน ฯลฯ อันเป็นหน้าที่พื้นฐาน ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างผลงานให้สอดคล้องกับนโยบายของสถานศึกษาเพื่อให้รางวัลพิเศษอื่นๆ อาทิ การพัฒนา 6 ด้านเพื่อรับรางวัลโรงเรียนพระราชทานของกระทรวงศึกษาธิการ การพัฒนา 63 ตัวชี้วัด เพื่อรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข รางวัลโรงเรียนศรีตำบล รางวัลโรงเรียนในฝัน และรางวัลต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สมศ. เล็งเห็นประโยชน์จากการได้รางวัลดังกล่าว โดยสถานศึกษาต้องประเมินความพร้อมตามบริบทของโรงเรียนและสถานศึกษาตนเองที่มีความสอดคล้องกับรางวัลดังกล่าว มิใช่สร้างเนื้อหาให้สอดคล้องเพียงเพื่อรับการประเมิน ซึ่งจะส่งผลต่อภาระที่เพิ่มภาระให้แก่บุคลากรครู อย่างไรก็ตาม สมศ. มุ่งหวังให้ประเทศไทยมีหน่วยงานวิจัยเพื่อพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ สะท้อนความเป็นจริงของปัญหาระบบการศึกษาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีแต่งานวิจัยที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษา อันเกิดจากหัวข้อวิจัยไม่เป็นประโยชน์ การหยิบยกกลุ่มตัวอย่างที่ผิดหลักการวิจัย การออกแบบการวิจัย ฯลฯ อันจะชี้นำสังคมไปในทางที่ผิด ทั้งนี้งานวิจัยที่ สมศ. มุ่งหมายให้มีเกิดขึ้นได้แก่ การวิจัยการนำผลการประเมินของหน่วยงานประเมินไปใช้จริงในสถานศึกษา การเปรียบเทียบเรื่องการประเมินมาตรฐานการศึกษาในสถานศึกษาในอาเซียน ฯลฯ” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวสรุป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี