โปรแกรมพยากรณ์การเคลื่อนย้ายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ช่วยชาวนาหลบปลูกข้าวช่วงระบาดลดการสูญเสีย
แม้ว่าขณะนี้การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวจะเบาบางลงไปมาก เนื่องจากชาวนางดทำนาปรังเพราะขาดแคลนน้ำ แต่ก็มีชาวนาในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่อยู่ในเขตชลประทานและมีน้ำพอที่จะปลูกก็จะทำการปลูกข้าวนาปรังอยู่ โดยบางรายกลับมาปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่เป็นพันธุ์ที่ได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของโรงสี ส่งผลให้ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณเตือนว่าพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี นครนายก และพระนครศรีอยุธยา
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวได้ติดตามสถานการณ์เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างใกล้ชิด แม้ในระยะนี้จะไม่พบการแพร่ระบาดรุนแรงแต่ก็มีการพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาในพื้นที่ภาคกลางบ้าง ดังนั้น กรมการข้าวจึงยังคงมีนโยบายแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างเข้มข้นโดยเน้นเดินหน้ามาตรการ “1 ลด 2 งด 3 เพิ่ม” ประกอบด้วย ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ให้เหลือ 15-20 กก.ต่อไร่ และให้ใช้วิธีปักดำหรือโยนกล้าแทนการหว่าน เพื่อลดความหนาแน่นของข้าวไม่ให้เป็นแหล่งอาหารและขยายพันธุ์ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 2 งด คืองดใช้สารเคมีกำจัดแมลงในระยะข้าวอายุน้อยกว่า 40 วัน เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะมาเริ่มวางไข่แต่ยังไม่มีการทำลาย ฉะนั้นช่วงนี้ศัตรูธรรมชาติในแปลงนา เช่น ตัวห้ำ แตนเบียน จะกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลโดยวิธีธรรมชาติ อีกหนึ่งงด คือ งดใช้อบาเม็กตินและไซเพอร์เมทรินในนาข้าว เนื่องจากสารเคมีสองชนิดนี้เป็นอันตรายอย่างมากและมีฤทธิ์ฆ่าทุกอย่างไม่เพียงแต่เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ยังฆ่าศัตรูธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ในแปลงนาด้วย
สำหรับ 3 เพิ่มนั้น คือเพิ่มการปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน ซึ่งกรมการข้าวมีการรับรองพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดด
สีน้ำตาลออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น พันธุ์ กข47 กข49 เพิ่มการปลูกพืชมีดอกบนคันนาเพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ สร้างระบบนิเวศน์บนคันนา สุดท้ายเพิ่มการสำรวจตรวจเยี่ยมแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็จะสามารถหาทางแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวนาได้ด้วย เนื่องจากการลดอัตราเมล็ดพันธุ์ ชาวนาก็มีต้นทุนลดลง และยังสามารถตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ การใช้สารเคมีก็ลดลงต้นทุนการผลิตก็ลดลงตามไปด้วย ที่สำคัญกรมการข้าวยังได้คิดค้นวิธีการหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมารองรับกับการแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพี่น้องชาวนา
“ขณะนี้กรมการข้าวมีทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถควบคุมแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงอยากฝากถึงพี่น้องชาวนาว่า ท่านควรจะทำนาแบบมืออาชีพ ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทางหน่วยงานราชการแนะนำ ประกอบกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวางแผนการผลิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับอนาคตข้าวไทย” อธิบดีกรมการข้าว กล่าวย้ำ
ชาญพิทยา ฉิมพาลี
ด้าน นางวันทนา ศรีรัตนศักดิ์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่กรมการข้าวนำมาใช้ในการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ได้ผลชัดเจน คือ กับดักแสงไฟ ที่เป็นตัวพยากรณ์ได้ว่าถ้ามีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมาเล่นไฟในกับดักนี้จำนวนมากแสดงว่าถ้าปลูกข้าวในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายผลผลิตชาวนาควรจะหลบการปลูกข้าวช่วงนั้นออกไป ซึ่งจากการนำกับดักแสงไฟไปติดตั้งไว้ที่ศูนย์วิจัยข้าว 27 แห่ง และหมู่บ้านนำร่องปลอดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท และนครนายก รวม 15 หมู่บ้าน เป็นเวลากว่า 5 ปี จนได้สถิติสามารถพยากรณ์ได้ว่าช่วงเวลาใดที่เพลี้ยกระโดดจะอพยพเข้ามาในพื้นที่
วันทนา ศรีรัตนศักดิ์
ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาโปรแกรมการใช้ระบบพยากรณ์การเคลื่อนย้ายประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ซึ่งสามารถช่วยแนะนำชาวนาในพื้นที่ต่างๆ ได้ว่าควรจะหลบการปลูกข้าวในช่วงที่จะมีเพลี้ยกระโดดอพยพเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น พร้อมกับได้พัฒนาการติดตั้งและการใช้งานโปรแกรมถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโปรแกรมส่งภาพไปยังเครื่องแม่ข่าย (แอพพลิเคชั่น Insec Shot) ที่ใช้งานได้กับระบบปฏิบัติงานแอนดรอยด์ (Android) บนสมาร์ทโฟน เป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วจากการใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในแปลงนาแทนการสุ่มนับด้วยคน โดยเมื่อถ่ายภาพเสร็จก็จะส่งภาพไปที่เครื่องแม่ข่ายก็จะประมวลผลนับจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้ทันที อย่างไรก็ตาม ในอนาคตยังมีโครงการที่จะพัฒนาโปรแกรมตรวจนับปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่เข้าไปในกับดักแสงไฟ เพื่อลดขั้นตอนการนับด้วยแรงงานคนอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี