‘ราไวย์’สงบศึก
สั่งวัดแนวเขต‘พิพาท’
กันเป็นพื้นที่สาธารณะ
‘หลีเป๊ะ’ร้องช่วยด่วน
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต มีการประชุมร่วมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 16 หน่วยงาน อาทิ นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล พ.ต.ท.ประวุฒิ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อหารือการแก้ปัญหากรณีการพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างชาวเล (ไทยใหม่) บ้านราไวย์ หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต กับ บริษัทบารอน เวิลด์ เทรด จำกัด ผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณที่เกิดข้อพิพาทจำนวน 33ไร่
โดย นายจำเริญ แถลงภายหลังการประชุมว่า จากการประชุมเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายไม่มีใครยอมรับข้อเสนอของกันและกัน โดยกลุ่มชาวไทยใหม่ยืนยันการขอใช้เส้นทางเดิมที่เคยใช้เป็นเส้นทางผ่านไปประกอบอาชีพและพิธีกรรมบาลัยที่บริเวณหาดราไวย์ แต่บริษัทบารอนฯ ยืนยันต้องการที่จะใช้จุดดังกล่าวเป็นพื้นที่พัฒนาตามแผนของตัวเอง และเสนอให้ชาวไทยใหม่ย้ายศาลบาลัยมาอยู่บริเวณรอยต่อจุดพิพาท โดยจะยกที่ดินให้ 200 ตารางเมตร ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ยินยอมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อสรุปเบื้องต้น 4 ข้อ คือ 1.ให้เจ้าพนักงานที่ดิน นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ และเจ้าของที่ดิน เข้าตรวจสอบแนวเขตด้านหน้าชายหาดโดยดูแนวจริงของพื้นที่ และยึดหลักการให้บาลัยอยู่ที่เดิม รวมทั้งให้ชาวบ้านสามารถใช้เส้นทางเดิมจากพื้นที่อยู่อาศัยเข้าไปได้เหมือนเดิม เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวไม่ปรากฏในเอกสารสิทธิ์ 2.ให้คณะกรรมการ 1 ชุด มี นายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อวางหลักเส้นทางที่ติดกับหลักโฉนดที่ดินของบริษัทบารอนฯ ไปจนถึงบาลัย และออกหนังสือสำคัญที่หลวง หรือ นสล. ในพื้นที่ทั้งหมด โดยประสานงานให้ออกเป็นแนวยาวทั้งหน้าหาด และในส่วนของการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ต่อไปนั้น ให้นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ทำหน้าที่ประสานงานสนับสนุนในพื้นที่
3.สำหรับข้อเสนอของบริษัทบารอนฯ เรื่องการย้ายบาลัยนั้น ชาวไทยใหม่ได้ขอให้บริษัทมอบที่ดิน 200 ตารางวาบริเวณข้างบาลัยเดิมให้กับชาวบ้านแทน ซึ่ง นายชาตรี หมาดสตูล ผู้แทนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัทบารอนฯ ได้รับที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปหารือกับผู้บริหารบริษัท เพื่อพิจารณาว่าจะสามารถจัดสรรที่ดินบริเวณดังกล่าวให้ชาวบ้านได้หรือไม่ต่อไป 4.สำหรับกรณีจะใช้สิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ชาวเลและบริษัทบารอนฯ สามารถใช้สิทธิของตัวเองได้ตามกระบวนการ โดยหากชาวไทยใหม่ไม่พอใจผลการแก้ไขปัญหา ก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองชั่วคราวหรือฟ้องร้องเพื่อพิสูจน์เอกสารสิทธิได้ตามขั้นตอนของกฎหมาย ขณะที่บริษัทบารอนฯเอง หากคิดว่าต้องการปกป้องรักษาสิทธิของตน ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้เช่นกัน
จากนั้น นายจำเริญ ได้ลงมาพบปะกับชาวเลไทยใหม่ที่เดินทางมารอรับฟังผลการประชุม โดยชี้แจงผลการหารือและข้อสรุปทั้งหมดให้ชาวบ้านได้รับทราบ โดยในเบื้องต้นชาวไทยใหม่ต่างแสดงความพอใจแนวทางการแก้ไขปัญหา จึงพากันแยกย้ายเดินทางกลับ
วันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาอยู่ว่า ปัญหามีความเป็นมาอย่างไร ร้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่ชาวบ้านมาอาศัยอยู่เป็นอย่างไร ดังนั้นในช่วงนี้จึงขอให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันไปก่อน ส่วนกรณีที่เอกชนเสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินคืนให้ประชาชนนั้น ก็ต้องกลับไปดูว่า แต่ละฝ่ายมีสิทธิอยู่ในที่ดินนั้นมากี่ปีแล้ว การเป็นเจ้าของที่ดินของเอกชนเขาซื้อมาจากไหน ซื้อมาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ ว่ากันตรงนี้ให้จบก่อน ถ้าจะไปซื้อให้ก็ต้องจ่ายเงินซื้อทุกที่เลยหรืออย่างไร
ส่วนความคืบหน้ากรณีปัญหาชาวเลอูลักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ซึ่งถูกกลุ่มนายทุนอ้างกรรมสิทธิบนที่ดินขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ นายแสงโสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้ออกมาตอบโต้ข้อมูลของจังหวัดสตูลที่อ้างมีผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นเพียง 100 ครัวเรือนว่า ข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีชาวเลซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนานถูกขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นกว่า 200 ครัวเรือน และยังมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนายทุนบาวรายสร้างกำแพงปิดกั้นเส้นทางสัญจรกว่า 150 ครอบครัว รวมมีเด็ก ผู้ใหญ่ และคนชรา ที่กระจายกันอยู่ทั้งบริเวณหัวเกาะ กลางเกาะ และท้ายเกาะ ต้องได้รับผลกระทบมากกว่า 1,000 คน
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ชาวบ้านกำลังร่วมกันทำเอกสารและแผนที่ทำมือ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งไปยัง คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล เพื่อทวงสิทธิที่เราควรมี และอยากร้องขอให้ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงพื้นที่มาตรวจสอบปัญหาโดยด่วน รวมทั้งจดเวทีเสวนาโดยเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังปัญหา และพิสูจน์ทราบในเรื่องกรรมสิทธิ์ของที่ดิน เพราะนี่คือความหวังสุดท้ายของชาวเลในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีแต่การประชุมของจังหวัดมาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่เคยมีทางออก และการเก็บข้อมูลของจังหวัดสตูลก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี