18 เม.ย.59 พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ว่า ปอมท.ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในสถาบันอุดมศึกษา 3 ประเด็นหลัก โดยเรื่องแรก เสนอแนวทางการสร้างธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งทาง ปอมท.ได้ไปพูดคุยและได้มีข้อเสนอแนะให้ตนว่า การที่จะให้มีธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยนั้น ควรจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งตนรับเรื่องไว้
และโดยส่วนตัวเห็นว่าหัวใจสำคัญของเรื่องนี้หลักๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีมหาวิทยาลัยดีๆ 90% แต่มีบางแห่งที่ยังไม่เรียบร้อย ส่งผลให้เกิดปัญหามากมาย และแต่ละมหาวิทยาลัยก็มี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง เท่าที่ทราบ ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือการสรรหาสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งเปิดช่องให้สามารถดำรงตำแหน่งพร้อมกันได้หลายแห่งด้วย ดังนั้น ตนจึงต้องขอดูข้อกฎหมายว่า อะไรที่เป็นอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่สามารถดำเนินการได้ทันที หรืออะไรที่ต้องไปปรับแก้กฎหมาย ก็ต้องไปหารือกันให้เกิดความเหมาะสม
เรื่องที่ 2 ที่ ปอมท.เสนอคือ ให้มีการทบทวนการปิด - เปิดภาคเรียน ตรงตามประเทศอาเซียน โดยเรื่องนี้ตนจะขอหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ก่อน เพราะนโยบายนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และการจะปรับแก้อะไร ก็ต้องฟังข้อมูลให้ชัดเจน
"เรื่องนี้ผมต้องคุยและฟังเหตุผลจากก ทปอ.ก่อน ซึ่งอาจจะมีเวอร์ชั่น 3 ขยับออกมาอีกนิดหน่อยก็ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย อะไรที่เปลี่ยนไปแล้ว และใช้มา 2 ปี ต้องเห็นข้อดีข้อเสียชัดเจนถึงจะกลับมาได้ การดำเนินการทุกเรื่องจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งเพื่อนประเทศอาเซียน" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประเด็นที่ 3 ตนได้ให้การบ้าน ปอมท.กลับไปพิจารณาระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำอย่างไรจะลดภาระไม่ให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ เพราะทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของการรับตรงของมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ก็ให้มหาวิทยาลัยสามารถรับเด็กได้ตรงตามที่ต้องการด้วย ทั้งนี้ แนวคิดของตนนี้ อยากให้มีการปรับทั้งระบบ แต่หากยังไม่สามารถทำได้ ก็ต้องปรับช่วงเวลา การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ / วิชาชีพ หรือ PAT ครั้งแรก เดิมจะจัดสอบในช่วงเดือน ต.ค.ซึ่งเด็กยังเรียนไม่จบ ม.6 จึงอยากให้มาจัดสอบในช่วงเดือน ก.พ.แทน เพราะเป็นช่วงที่เด็กจบ ม.6 แล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องพะวักพะวงกับการสอบ เมื่อจบแล้วค่อยสอบที่เดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทปอ.ก็ยังจัดสอบได้ปีละสองครั้งเหมือนเดิม
ด้าน นายชัยวุฒิ ฉัตรอุทัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ในฐานะประธาน ปอมท.กล่าวว่า ภายหลังจากที่ ปอมท.รับการบ้านจาก รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัยแล้ว หลังจากนั้น ปอมท.ก็ได้ประชุมร่วมกับผู้แทน 5 ฝ่าย ได้แก่ ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย , ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) , ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ปคมทร.) , ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปมรภ.) และศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ไปแล้วนั้น ที่ประชุมเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1.ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหา การคัดเลือกบุคคลมาเป็นนายกสภาฯ กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย โดยเน้นการมีส่วนร่วมตามหลักไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประชาคม ฝ่ายบริหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ
2.สกอ.ต้องกำหนดกลไกการตรวจสอบและประเมินการทำงานของอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมทั้งสภามหาวิทยาลัย ซึ่งเดิมประเมินตนเอง ดังนั้น ปอมท.เสนอว่าต้องประเมินโดยเน้นการมีส่วนร่วมตามหลักไตรภาคีเช่นเดียวกัน และ 3.สกอ.ต้องออกกฎเกณฑ์มาตรฐานของสภาฯ และอธิการบดี โดยนายกสภาฯ กำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้ 1 แห่ง และต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 วาระ กรรมการสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 แห่ง ต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 2 วาระ ส่วนอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน 2 วาระ
นอกจากนี้ ปอมท.ได้เสนอให้ทบทวน เรื่องการเปิด - ปิดภาคเรียนตามอาเซียน โดย ปอมท.ได้ทำการสอบถามความคิดเห็น บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 5,540 คน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เสนอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา ผลปรากฏว่า คณาจารย์ 73.2% บุคลากรสายสนับสนุน 63% และนิสิตนักศึกษา 60.9% ไม่เห็นด้วยกับการเปิด - ปิดภาคเรียนตามอาเซียน ส่วนการบ้านเรื่องการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ที่ รมว.ศึกษาธิการ ฝากการบ้านไปนั้น ปอมท.ขอเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อกลับไปประชุมหารือกัน ก่อนนำกลับมาเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ต่อ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาในเร็วๆ นี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี