คำถาม ถ้าหากภาวะโลกร้อน ทำให้ระบบการผลิตทางการเกษตรได้ผลน้อย จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร มากน้อยแค่ไหน อย่างไรครับ
สิทธิธรรม สาครอมรรัตน์
อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
คำตอบ การเผชิญกับภาวะโลกร้อน จะทำให้สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ได้เกิดบ่อยขึ้น รุนแรงมากขึ้นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรุนแรงที่สุด คือ ในเขตร้อนและใกล้เขตร้อน ประเทศไทยเรา และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ของโลกที่ตั้งอยู่ในเขตเหล่านั้น มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยมีภาคเกษตรกรรม เป็นภาคการผลิตที่อ่อนไหวมาก เพราะเมื่อเกิดมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดสภาวะแล้ง การขาดแคลนน้ำที่จะเพิ่มขึ้น และสภาพอากาศที่แปรปรวนนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลโดยตรงต่อผลผลิต และที่สำคัญ ถ้าระบบการผลิตทางการเกษตรล้มสลาย ก็จะส่งผลต่อความสั่นคลอนของความมั่นคงทางอาหารให้กับคนเมือง รวมทั้งมนุษย์ทุกคนบนโลกด้วย
ความมั่นคงทางอาหาร ได้กลายเป็นปัญหาความมั่นคงที่หลายประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญและสร้างมาตรการรับมือกับความอยู่รอดของประชากรในประเทศ กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะแวดล้อมและวิกฤติด้านพลังงาน สภาพแวดล้อม และความสำคัญของการผลิตพืชอาหารลดลง ทำให้ราคาพืชผลและอาหารสูงขึ้น จนทำให้ประชากรที่ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ นำไปสู่การเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะในขณะที่แนวโน้มของผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยธรรมชาติ อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และความอดอยาก ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร และภูมิต้านทานร่างกายต่ำ โดยเฉพาะในเด็กและคนชรา
สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหาร เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากชุมชน และชาวนา ต่างเป็นผู้ที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่ ลูกชาวนาก็หันมาบริโภคอาหารแบบคนเมือง ทำงานอาชีพโรงงานไม่รู้จักผักพื้นบ้าน ไม่รู้จักการเก็บกินเองและถ้าเรากินอาหารโดยไม่รู้แหล่งที่มา พฤติกรรมการบริโภคแบบนี้ แปลว่าเราไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น การผลิตที่สอดคล้องกับระบบนิเวศจึงสำคัญมาก
การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านระบบเกษตรกรรม อาจทำได้ในแต่ละชุมชน จะต้องผลิตอาหารกันเองให้ได้ จะต้องมีแหล่งอาหารธรรมชาติ ที่ให้ทุกคนเข้าถึงอาหาร ทั้งจากป่า นา และแหล่งน้ำตามฤดูกาล และมีระบบการแลกเปลี่ยนพึ่งพากันผ่านเครือญาติ และเพื่อนบ้าน สร้างระบบการเกื้อหนุน และพึ่งพาช่วยเหลือกัน ผ่านการรวมกลุ่ม เช่น ธนาคารข้าว หรือกองทุนต่างๆ
แนวทางในการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร ต้องเริ่มที่ชุมชน นักวิชาการได้ให้แนวทางไว้ดังนี้
-ผลิตอาหารในระบบไร่นา จะต้องมีที่นาทำ มีแรงงานที่ช่วยในการผลิต มีผักธรรมชาติ มีแปลงผักสวนครัวในพื้นที่นาพอเพียงกับการเก็บกินในช่วงทำนา และมีผลไม้ในที่นาที่กินได้ตามฤดูกาล
-ผลิตพืชผักสวนครัว บริเวณรอบบ้าน ต้องปลูกพืชผักสวนครัวให้พอกิน และแบ่งปันเพื่อนบ้านในชุมชน ได้อย่างเพียงพอตลอดปี
-ฟื้นฟูแหล่งอาหารธรรมชาติของชุมชน พื้นที่ป่ารอบหมู่บ้าน จะต้องมีพื้นที่ผลิตอาหารจากธรรมชาติ อาจจะเป็นป่าหัวไร่ปลายนา ป่าชุมชน ที่คนในชุมชนไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ มีอาหารตามฤดูกาล โดยชุมชนต้องร่วมกันฟื้นฟูป่า ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกการจัดการร่วมของชุมชน และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน
-พัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน มีสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และพืชผักธรรมชาติ ที่ทุกคนหาได้ในช่วงฤดูฝน เน้นการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการลดการใช้สารเคมีที่มีผลต่อแหล่งอาหารในน้ำด้วย
-พัฒนาระบบการเข้าถึงอาหารของชุมชน มีการฟื้นฟูและแบ่งปันอาหารระหว่างกลุ่มคนทั้งชุมชน แบ่งปันให้กับคนที่ไม่มีอาหาร มีระบบตลาดจำหน่ายผลผลิตที่เป็นอาหารของชุมชน เพื่อให้กลุ่มที่ไม่ได้ทำการผลิต สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเป็นธรรม และปลอดภัย
ความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน หากพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตอาหารทางการเกษตรจากชุมชน ความมั่นคงทางอาหารเพียงอย่างเดียว เราอาจจะยอมรับให้เกษตรอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่รายที่ทำเกษตรแบบใช้พืชตัดแต่งพันธุกรรม แต่ไม่ได้คำนึงถึงเกษตรกรรายย่อย และผู้บริโภค ซึ่งอันที่จริงแล้วมองว่าแต่ละส่วนในภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ภาคเกษตรโดยรวมตกเป็นจำเลยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาครัฐ ควรจะทำความกระจ่างว่า การเกษตรลักษณะใดที่เป็นต้นเหตุของปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไปควบคุมที่ต้นเหตุนั้น ต้นเหตุของภาวะโลกร้อนมาจากการใช้สารเคมีของธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ระบบเกษตรพันธะสัญญา และระบบเกษตรที่ใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรม เหล่านี้ เป็นต้นเหตุที่สนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีเอย่างมาก ที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน
นาย รัตวิ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี