ช่วงนี้อากาศเมืองไทย ความเย็นชักจะเริ่มโชยๆ เข้ามาแล้ว ทำให้นึกไปถึง “ไอติม หรือ ไอศกรีม” ขนมหวานที่มีตำนาน
นับเป็นพันๆ ปีที่คนรู้จักกันทั้งโลกและเมื่อนึกถึงไอติม ในฐานะมรดกของมวลมนุษยชาติ เลยทำให้ นึกต่อเนื่องไปถึงใบหน้า
ของท่าน “วีระ โรจน์พจนรัตน์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมอยากให้ท่านส่งเสริมให้ ไอติม เป็น “ขนมวัฒนธรรม” ที่เดินเคียงคู่ไปกับอาหารวัฒนธรรม “ต้มยำกุ้ง”มรดกของคนไทย แบบว่า ถ้าต้มยำกุ้งเป็นพระเอก ไอติมก็น่าจะเป็น นางเอก ว่างั้นเถอะ
เราจะปล่อยให้พระเอกเดินไปโดยขาดนางเอกได้อย่างไร ในเมื่อมีปูมประวัติพอจะเอ่ยอ้างได้จากตำนานว่า “ไอติมกะทิสด”ที่คนนิยมกินกันอย่างมากเวลานี้ เป็น ภูมิปัญญาของไทยที่เริ่มต้นกำเนิดขึ้นมาในช่วงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เรื่องราวของไอติม ที่มีการบันทึกเอาไว้ระบุว่า ไอศกรีม หรือ ไอติม เริ่มเข้ามาในประเทศไทย ในยุคของรัชกาลที่ 5โดยนำไอศกรีมมาจากสิงคโปร์ว่ากันว่า ต้องใช้น้ำแข็งหล่อเย็นมาตลอดการเดินทาง ซึ่งนับว่าการจะได้กินไอติม (ในตอนนั้น) จะต้องใช้เงินสูงทีเดียว แน่นอนว่า ไอติมแต่แรกเริ่มนั้น ต้องเป็นคนมีเงิน(มากๆ)เท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้ลิ้มรส
ด้วยความกล้าได้กล้าเสีย ของคนไทย จึงได้มีการทำไอติมขึ้นในเมืองไทย แน่นอนว่า น้ำแข็ง ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญที่จะนำมาปั่นในถังเพื่อให้น้ำกลายเป็นไอติม ต้องขนมาจากสิงคโปร์ ที่ยังต้องมีต้นทุนราคาสูงแต่เมื่อราคาต้นทุนสูง ก็ต้องขายในราคาสูง คนมีเงินระดับรองๆ ลงมาก็ยังสามารถควักเงินออกมาหาซื้อกินเพื่อลิ้มรสเจ้าขนมที่คนทั่วๆ ไปชอบพูดติดปากกันว่า “ปั้นน้ำให้เป็นตัว” กันได้มากขึ้น ไอศกรีมจึงถือเป็นขนมที่วิเศษสุดในเวลานั้น
และด้วยสติปัญญา ความฉลาดของคนไทย จึงมีผู้คิดสูตรไอติมไทย ที่ไม่เหมือนไอติมฝรั่งขึ้นมาแทนที่จะต้องไปซื้อวัสดุส่วนผสมที่ต้องสั่งจากเมืองนอก เช่น เนย ครีม เราก็ใช้ กะทิคั้นสดแทน เพราะเมืองไทย มะพร้าวมีเป็นเกาะๆ เยอะแยะไปหมด และเมื่อทดลองทำแล้ว ปรากฏว่า การนำเอาส่วนผสมของกะทิสดจากมะพร้าวทำไอติมมีรสอร่อยถูกปากคนไทยมากกว่าใช้เนยใช้ครีมจากฝรั่งด้วยซ้ำไป ยิ่งมีน้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย เสริมเข้าไปด้วย อร่อยลิ้นไม่มีวันลืมทีเดียว
ปัจจุบันนี้ คนไทยสามารถประดิษฐ์คิดค้นเครื่องปั่นไอศกรีมอัตโนมัติ (Fully Automatic IceCream Machine, FAIM) หรือเครื่องปั่นไอศกรีมระบบคอมเพรสเซอร์เป็นการผลิตไอศกรีมแบบใหม่ที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้เกลือกับน้ำแข็ง และสามารถตอบโจทย์ผู้ผลิตไอติมกะทิในบ้านเราได้ทุกข้อทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ถูกหลักอนามัย และได้ปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว และใช้เวลาน้อย
จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าสถิติปี 2558 ตลาดไอศกรีมในประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นตลาดแมสโปรดักส์ (Mass Product ) และไอติมท้องถิ่น(Local Icecream) ประมาณ 70% และไอศกรีมจากต่างประเทศ 30%ในแต่ละปีจะขยายตัวประมาณ3-4%
เราลองมาจรรโลงมรดกไทยชิ้นนี้ให้เป็นของคู่บ้านคู่ปากของประเทศไทยกันดีกว่า รายละเอียดเพิ่มเติมที่ไม่เหมือนกับข้อเขียนนี้ ดูได้จาก www.stainlessworld.netและ www.facebook.com/ไอเดียอาชีพ
โดย ชนิตร ภู่กาญจน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี