ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาความยากจนของประชากรในประเทศอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานยังคงเป็นปัจจัยพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะถือเป็นต้นทุนในการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไม่มากก็น้อย
ขณะนี้หลายๆ คนคงทราบดีกับกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระยะๆ ว่า ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.กำลังมีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ขึ้น พร้อมยืนยันความจำเป็นว่า ต้องมีโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพาเกิดขึ้นเพื่อต้องการให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก
ทั้งนี้ ล่าสุด กฟผ. ก็ออกมาชี้แจงพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ด้วยเช่นกัน
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ผู้ว่าการ กฟผ. ออกมาระบุว่า ในขณะนี้เร่งรวบรวมข้อมูลทุกด้านรวมทั้งความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อเสนอรัฐบาลประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้งกระบี่ และเทพาอย่างไร โดยยืนยันว่า โรงไฟฟ้าในภาคใต้จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้น แต่กำลังผลิตไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีบางฝ่ายออกมาเสนอใช้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซแอลเอ็นจี เพราะต้นทุนก่อสร้างถูกกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง แต่หากรวมค่าเชื้อเพลิงระยะยาวแล้ว ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกกว่า
จากข้อมูลของสถาบันพลังงาน IHS ENERGY ศึกษาแนวโน้มราคาเชื้อเพลิง แอลเอ็นจี และถ่านหินพบว่า ราคาแอลเอ็นจีที่ลดลงในช่วง 2 ปีเศษที่ผ่านมาจากการพบ SHALE GAS ในสหรัฐอเมริกาทำให้ราคาแอลเอ็นจีปี 2559 เป็นปีที่ต่ำสุด และในปีหน้าราคาจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงถ่านหินแล้วเฉพาะปี 2564-2565 ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประเมินว่า จะถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซแอลเอ็นจีประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย โดยหากคำนวณเฉพาะโรงไฟฟ้า1,000 เมกะวัตต์ ค่าไฟฟ้าจากถ่านหินจะถูกกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญการใช้ถ่านหินก็เป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาก๊าซมากเกินไป
ยอมรับว่าปีนี้แอลเอ็นจีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับถ่านหินต้นทุนอาจไม่ต่างกัน แต่จากแนวโน้มราคาแอลเอ็นจีก็จะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าถ่านหิน ประชาชนจะจ่ายแพงกว่า และที่สำคัญเราพึ่งพาก๊าซผลิตไฟฟ้าแล้วร้อยละ 67 หากพึ่งพามากขึ้นก็เป็นความเสี่ยงเราควรบริหารความเสี่ยงด้วยการพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่นๆ
นายกรศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนกำลังผลิตจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสูงถึงร้อยละ 67 ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย จะทำให้กำลังผลิตหายไปประมาณ 10,500 เมกะวัตต์ ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา จะทำให้กำลังผลิตหายไป ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ถ้าไม่มีก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA จะทำให้กำลังผลิตหายไป ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์การพึ่งพาดังกล่าวทำให้มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดไฟดับหากว่าระบบส่งก๊าซธรรมชาติมีปัญหาจึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงไปใช้เชื้อเพลิงที่หลากหลายขึ้น
นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น เช่น มาเลเซียที่ส่งออก LNG และมีก๊าซฯ เป็นจำนวนมากยังสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในสัดส่วนร้อยละ 26ของกำลังผลิตในขณะที่ไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 แบ่งเป็นสัดส่วนจากในประเทศเพียงร้อยละ 11.39 และจากโรงไฟฟ้าหงสาสปป.ลาว ร้อยละ 3.5 แม้แต่ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ก็อยู่ในระหว่างสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก หรือตัวอย่างของประเทศเวียดนาม ปัจจุบันได้ยกเลิกโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โดยหันไปพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินแทน
โดยในเรื่องการจัดการเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อนทั่วโลกก็ให้ความสำคัญประเทศไทยก็ให้ความสำคัญเช่นกัน แต่การกระจายเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคง รวมทั้งดูแลภาคประชาชนไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงมากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามกระแสข่าวโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทราบว่า โครงการนี้ กฟผ. อาจจะไม่ได้ทำประชามติถามความเห็นชาวกระบี่ แต่จะรวบรวมความเห็นด้วยรูปแบบอื่นๆ พร้อม กฟผ.ระบุว่า จะติดตามการเคลื่อนไหวของชุมชนอยู่ว่า เขาทำอะไรแล้วรายงานให้รัฐบาลทราบ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้สร้าง และ กฝผ.ยังระบุว่า งานนี้ ถ้ารัฐบาลจะไม่ให้สร้างก็ต้องด้วยสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นไม่ใช่มีสาเหตุมาจากชุมชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องจับตากันต่อไปว่า หากโครงการดังกล่าวเดินหน้าไปไม่สำเร็จจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามโดยที่รัฐตัดสินไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
งานนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องเตรียมแผนสำรองไว้รองรับด้วย ว่า ประเทศไทยเราควรเลือกพื้นที่อื่นตรงไหนที่จะสร้างแทนหรือไม่อย่างไรต่อไป
ทั้งนี้เพราะโครงการดังกล่าวถือเป็นสิ่งจำเป็น และสอดคล้องกับการเดินหน้าประเทศไทยในยุคปัจจุบันนั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี