ปศุสัตว์แจง พ.ร.บ.ป้องกันทารุณสัตว์ฯ ยังไม่ให้นิยาม “สัตว์อาศัยในธรรมชาติ” ขยับวางกรอบ 9 มี.ค.นี้ ชี้การล่าสัตว์ป่าที่ป็นสัตว์สงวน มีกฎหมายเฉพาะมีโทษหนักกว่า
ความคืบหน้าคดีนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก เข้าไปล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งต่อมาทางเจ้าหน้าที่มีการถอนแจ้งความในคดีทารุณกรรมสัตว์ ทำให้นายเปรมชัยไม่ต้องมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 5 มี.ค. แต่ต้องมารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 26 มี.ค.นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.61 นายสัตวแพทย์(น.สพ.) อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ละเว้นปฎิบัติหน้าที่มาตรา 157 ไม่ออกประกาศครอบคลุมสัตว์ป่าไว้ใน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ทำให้ปศุสัตว์ จ.กาญจนบุรี ไม่สามารถแจ้งข้อหาทารถณกรรมสัตว์กับ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้นั้น
น.สพ.อภัย กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้กรมฯขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม มิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้สามารถบังคับใช้กับสัตว์อื่นๆได้อยู่แล้ว
“ยังเหลือเพียงนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ประกาศกำหนดมาตรา 3 วรรคสุดท้ายหมายรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เนื่องจากมีข้อโต้แย้งในรายละเอียดของคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน แต่ในประเด็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาตินี้ กรมปศุสัตว์จะเร่งประชุมคณะกรรมการฯให้ได้ข้อสรุปนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 มี.ค.2561” น.สพ.อภัย กล่าว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ยังมิได้มีการกำหนดนิยามให้สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติเป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ ก็ตาม แต่สัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติก็อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ หากไปล่า หรือทำร้ายจะมีโทษหนักกว่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ส่วนสัตว์ป่าแม้อยู่ตามธรรมชาติ แต่หากนำมาเลี้ยง จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ด้วยอยู่แล้ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี