10 พ.ค.61 พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ประธานที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกิดขึ้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้กับกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ในการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ ขณะเดียวกันหากปิดบ่อขยะเชิงเขาทอง เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จะทำความเดือดร้อนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน จ.กาญจนบุรี ทั้งหมด เพราะไม่สามารถที่จะหาที่ดินได้
นอกเหนือจากบริเวณเชิงภูเขาทองแล้ว การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำขยะไปทิ้งส่วนใหญ่จะมีปัญหารวม 2 ประการ คือ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากพี่น้องประชาชนที่อยู่ข้างเคียง ถึงแม้จะเป็นที่ดินที่ถูกต้องก็ตาม และนอกจากปัญหาการที่ได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนอื่นก็จะเป็นการไปบุกรุกในพื้นที่แห่งอื่น ดังนั้นทางกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ก็ได้ตระหนักเหตุจริงทั้ง 2 ประการ จึงร่วมมือกับทางจังหวัดกาญจนบุรีในการแก้ไขปัญหาในชั้นต้นว่าจะอนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาทำ MOU กับองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยนได้นำขยะมาทิ้งชั่วคราว ในชั้นต้นมีประมาณ 16 แห่ง และต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 20 องค์กรในปัจจุบัน
พล.อ.สมชาย กล่าวต่อว่า จากแผนงานของจังหวัดกาญจนบุรี เราจะเห็นว่าจังหวัดกาญจนบุรีได้รับคำสั่งจาก คสช.ที่ 1/2557 ในเรื่องของการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งจังหวัดก็ได้ทำแผนต่างๆ รวมสรุปแล้วว่าขยะมูลฝอยของจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปี 2557 อยู่ในเกณฑ์ ประมาณ 600 ตันต่อวัน ซึ่งก็เป็นจำนวนมหาศาล การทิ้งก็ไม่สามารถนำไปทิ้งที่อื่นได้ ต้องขอความกรุณาจาก พล.1 รอ.ให้ตำบลนี้เป็นที่รวบรวมทิ้งขยะไปก่อน ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขึ้นมา แล้วก็ได้ดำเนินการตามกระบวนการเพื่อขอบริจาคจากพี่น้องบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นผลกำไร ซึ่งปัจจุบันนี้จะเห็นว่ามีเครื่องมืออยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับสิ่งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ก็ได้นำเอาไปกำจัดที่อื่น ด้วยการนำไปขายให้กับบริษัทฯที่เกี่ยวกับการผลิตปูนซีเมนรวม 2 บริษัท ซึ่งขายได้ในราคาตันละ 1,000-1,200 บาท
เมื่อหักค่าขนส่งประมาณ 400-500 บาท ก็จะเหลือประมาณ 800 บาท ซึ่งเงินที่เหลือจำนวนดังกล่าว ก็จะนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ต่างๆรวมทั้งค่าเสื่อมของอุปกรณ์ด้วย การรีเทิร์นก็คงจะอยู่ที่ประมาณ 7 ปี เพราะปัจจุบันนี้ไม่มีผลกำไร
นอกจากนี้เรายังได้ก่อสร้างอาคารขึ้นมาภายในพื้นที่ของโครงการความร่วมมือการบริหารจัดการขยะมูลฝอยระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำศูนย์เรียนรู้ เราก็จะทำการล้างขยะเพื่อเพิ่มมูลค่าของขยะขึ้นมา ต่อจากการล้างขยะแล้ว ก็อาจจะไปถึงขั้นการหลอมเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกขึ้นมา แล้วจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสในการที่จะประกอบอาชีพ อันสืบเนื่องจากขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ มีบริษัทที่เคยบริจาคอุปกรณ์สายสปริงเกอร์ สำหรับดูแลรักษาต้นดาวเรือง ในราคา 1 ล้านบาท พร้อมที่จะเข้ามารับซื้อเม็ดพลาสติกที่เราผลิตที่นี่ ซึ่งก็จะเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องของขยะเกิดความง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากแนวคิดที่เราได้ทำขึ้นมาจะเห็นว่าขยะมูลฝอยที่เคยมีอยู่ 1 ล้านกว่าตัน เราใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ ทำให้ขยะเก่าลดลงไปประมาณ 4 แสนตัน คงเหลืออยู่ประมาณ 6 แสนตัน ในขณะเดียวกันก็มีขยะใหม่เพิ่มเติมเข้ามาประมาณวันละ 100 กว่าตัน เราก็พยามที่จะขมวดทั้งขยะเก่าและขยะใหม่มารวมกัน เราจะพยายามผลิตเม็ดพลาสติกออกไปให้มากที่สุด จึงคาดคิดว่าภายในเวลา 5 ปี จะทำให้กองขยะนี้หมดไป
ในขณะเดียวกันหลังจากที่ได้มีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดออกมา และนโยบายในเรื่องของการแก้ปัญหาขยะของ คสช.เราก็จะเห็นว่าวิธีการฝังกลบ ต่อไปจะเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถดำเนินการได้ แต่สิ่งที่เราจะดำเนินการได้ก็คือการเผา การเผาภายใต้การควบคุมที่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นมา ก็คือการศึกษาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าในที่สุด
อย่างไรก็ตามการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อดำเนินการต่อไปนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือ และนโยบายของภาครัฐที่ชัดเจนขึ้นมา เช่นในเรื่องของพื้นที่ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ นั่นคือหากจำเป็นต้องขออาศัยในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการเป็นสำคัญ ประการสุดท้ายคือ ความร่วมมือขององค์กร โดยที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กรุณาจัดทำแผนเกี่ยวกับงานการทำประชาคม หรือการทำประชามติ
ทั้งนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ ในเรื่องของพื้นที่ที่รวบรวมขยะ และผลกระทบที่จะได้รับ และผลอันที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้มีการบริหารจัดการ ซึ่งทางจังหวัดก็ได้กรุณามอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ร่วมกับทางจังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาทำประชาวิจารณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในเร็วๆวันนี้ เมื่อทำการประชาวิจารณ์เสร็จแล้ว เราก็จะทราบถึงแนวทางที่จะดำเนินงานต่อไป
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของการใช้พื้นที่ ถ้าหากว่าได้รับความกรุณาจากส่วนราชการให้ใช้พื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ และก็สามารถดำเนินการโดยที่ไม่มีผลกระทบมากนัก ก็จะทำให้ไม่เกิดปัญหาในเรื่องของการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยให้กับทั้งจังหวัด และจะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี