8 ก.ย. 2561 นายนิวัติ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวในประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 8 ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและชุมชน ณ รร.เชียงของ ทีค การ์เด้นท์ ริเวอร์ฟรอนท์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเทศไทย ร่วมกับ กสม. ในอาเซียนและองค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ว่าหากจะพูดเรื่องการจัดการทรัพยากรระหว่างประเทศนั้นสิทธิชุมชนต้องเกิดขึ้นก่อน
ซึ่งที่ผ่านมาโครงการพัฒนาต่างๆ ตกอยู่ในมือของ 2 กลุ่ม คือภาครัฐกับกลุ่มทุนเอกชนขนาดใหญ่ เช่นที่ อ.เชียงของ ที่นี่เป็นเมืองเก่าแก่ทางวัฒนธรรมและมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แต่กลับถูกภาครัฐกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
"ประเด็นเหล่านี้หากสิทธิชุมชนไม่ถูกยกระดับ มันก็จะเกิดปัญหากระทบไปทุกภาคส่วน อย่างการสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่เชียงของ สิ่งที่มันจะกระทบกับท้องถิ่นคือดินน้ำป่าและทรัพยากรต่างๆ ถ้าไม่ยกระดับสิทธิชุมชน คนในท้องถิ่นก็ไม่สามารถอธิบายและปกป้องตัวเองได้" นายนิวัติ กล่าว
ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวต่อไปว่า มีตัวอย่างที่บ้านบุญเรือง ต.บุญเรือง อ.เชียงของ ซึ่งที่นี่เคยถูกกำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ชุมชนมีการศึกษาจนได้รายงานอธิบายความสำคัญของระบบนิเวศในพื้นที่ ทำให้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวถูกระงับไว้ในเวลาต่อมา เรื่องนี้เป็นบทเรียนได้ว่าถ้าสิทธิชุมชนไม่ถูกยกระดับ บ้านบุญเรืองเองก็คงไม่เหลือเช่นกัน
อย่างไรก็ตามโครงการบางอย่างมีลักษณะข้ามพรมแดน เช่น การสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ เพื่อให้เรือสินค้าแล่นผ่านได้ในแม่น้ำโขง ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบมากต่อคนริมน้ำ เช่น ชาวประมงหาปลาได้น้อยลง ผักที่ปลูกไว้ริมแม่น้ำก็ได้รับความเสียหาย แม้จะมีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC (Mekong River Commissions) แต่ด้วยความที่มีแต่ภาครัฐจึงยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน
"MRC มีข้อตกลงตั้งแต่ปี 2538 แต่สิ่งที่เห็นคือเขื่อนยังเกิดขึ้น การระเบิดเกาะแก่งก็ยังเกิดขึ้น MRC มาจากรัฐมองดูก็ดีว่าเป็นตัวแทนประเทศ แต่ก็ยังมองไม่เห็นการจัดการแม่น้ำโขงโดยคนข้างล่าง ก็เหมือนให้รัฐบาลทำเองประชาชนไม่ต้องซึ่งมันไม่ใช่ มันเป็นสิทธิ ฉะนั้นต้องแก้ไข สิ่งที่เราฝันและพยายามขับเคลื่อนคือเราต้องการสภาประชาชนลุ่มน้ำโขงอาเซียน นี่สำคัญที่สุดไม่เช่นนั้นในอนาคตแม่น้ำโขงคงไม่เหลืออะไร" นายนิวัติ ระบุ
นายนิวัติ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง จะใช้ต้นแบบจากสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง อย่างไรก็ตามยังมีความท้าทายคือสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพราะเป็นแม่น้ำในประเทศไทยทั้งหมด แต่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่แต่ละประเทศมีสภาพทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี