จากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้มีการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการซื้อกับปริมาณความต้องการขายสินค้า โดยกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตตามศักยภาพของพื้นที่ เพื่อให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ล่าสุดนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับพืชเกษตรเศรษฐกิจ 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายยุคล กล่าวว่า พืชทั้ง 6 ชนิดดังกล่าว ล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออก รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด จึงจำเป็นต้องใช้ความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกเป็นตัวกำหนดในการโซนนิ่ง โดยวิเคราะห์จากคุณสมบัติของดิน ความต้องการปุ๋ย น้ำ รวมถึงสภาพภูมิอากาศ
ที่เหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิด จากระดับที่มีความเหมาะสมมากที่สุดไปจนถึงไม่เหมาะสม และที่สำคัญจากการโซนนิ่งนี้จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มาก เนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืช ผลผลิตที่ได้จึงมีปริมาณและคุณภาพสูง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับเขตที่เหมาะสมกับการปลูกพืช 6 ชนิดนั้น จะจำแนกตามรายภาค จังหวัดอำเภอ และตำบล โดยพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมีด้วยกัน 76 จังหวัด 809 อำเภอ5,880 ตำบล โดยแยกเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 ภาคกลาง 19 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลังมีทั้งหมด 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกยางพารามีทั้งหมด 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัดภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด
ส่วนพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมันมีทั้งหมด 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล แยกเป็นภาคกลาง 5 จังหวัดภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคใต้ 14 จังหวัด พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยโรงงานมีทั้งหมด 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบลแยกเป็นภาคเหนือ 11 จังหวัด ตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีทั้งหมด 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล แยกเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 6 จังหวัด
นายยุคล กล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังดำเนินการจัดส่งข้อมูลเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นำไปวิเคราะห์และทำความเข้าใจร่วมกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯในพื้นที่ โดยมอบหมายให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
“การโซนนิ่งเป็นการดำเนินการที่ทำให้รู้ถึงจุดแข็ง จุดอ่อนของพืชแต่ละชนิด เช่น อ้อยโรงงานเมื่อปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมจะมีผลผลิตโดยเฉลี่ย 16.89 ตันต่อไร่ ส่วนในพื้นที่เหมาะสมปานกลางมีผลผลิต 13.2 ตันต่อไร่ แต่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมีผลผลิตเพียง 9.39 ตันต่อไร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเกษตรกรควรปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม โดยมีมาตรการจูงใจ เช่น การให้องค์ความรู้ การให้ทุนโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) การสนับสนุนด้านการตลาด และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าเมื่อปรับเปลี่ยนแล้วต้องดีกว่าเดิม” รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม การโซนนิ่งดังกล่าว จะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ตลอดจนทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกันมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี