การฟื้นฟูรักษาป่าต้นน้ำและการจัดการที่ดินเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคพัฒนาในจังหวัดน่านได้กำหนดเป็นโจทย์วิจัยพื้นที่จังหวัดน่านมาตั้งแต่ปี 2553 จนปี 2554 เกิดการทำงานวิจัยตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญเน้นการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ควบคู่กับการจัดการที่ดินและอาชีพเกษตร และในปี 2555 สกว.ได้จัดประชุมวิชาการงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่จังหวัดน่าน สำหรับปีนี้ สกว.ได้จัดประชุมวิชาการ ABC สัญจรน่าน การจัดการดิน น้ำ ป่าและอาชีพเพื่อความยั่งยืนและการพัฒนาบนทุนวัฒนธรรม เพื่อศึกษาบทเรียนความสำเร็จและรูปแบบของการจัดงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน โดยเลือกเอาผลงานการจัดการวนเกษตรป่าเมี่ยงชุมชน และการจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำย่อย ตำบลเรือง อ.เมือง จ.น่าน เป็นกรณีตัวอย่าง
นายสำรวย ผัดผล ประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน หัวหน้าโครงการวิจัยการจัดการวนเกษตรป่าเมี่ยงชุมชนและการจัดการน้ำระดับลุ่มน้ำย่อย ตำบลเรือง อ.เมือง จ.น่าน กล่าวว่า “เมี่ยง” เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งของชุมชนศรีนาป่าน-ตาแวน ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน ชาวบ้านนิยมนำใบมานึ่งและนำมาเป็นของขบเคี้ยว ที่เรียกกันว่า “อมเมี่ยง” เมี่ยงจึงเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนที่อยู่กับคนพื้นถิ่นมาชั่วหลายอายุคน ชาวบ้านที่นี่จึงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับขุนเขาและป่าเมี่ยงมากว่า 500 ปี และเมี่ยงก็เคยเป็นเครื่องบรรณาการ
ส่งให้เจ้าเมืองน่านในสมัยก่อน และเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนมายาวนาน
สำหรับหมู่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตามหลักฐานที่บันทึกจากพ่ออุ้ยหนานอโนชัย วงศ์ราช ชาวบ้านตาแวนซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2477 เล่าประวัติบ้านป่าเมี่ยง (ศรีนาป่าน) ว่า บรรพบุรุษของคนในหมู่บ้านอพยพมาจากแถบสิบสองปันนา สิบสองจุไท โดยมีพันธุ์เมี่ยงติดตัวมาด้วย ปลูกไว้ที่สันบวกปู่หนานโน สันบวกแม่เลี้ยงห้วยขาม สันเก๊าหม่าจุก สันขอนดู่ หรือสันป่อเลี้ยงถง นับแต่เริ่มตั้งถิ่นฐานก็มีการทำสวนเมี่ยงสืบต่อกันมา ซึ่งหากนับเอาตามประวัติการสร้างวัดของชุมชนเมื่อปี 2075 หมู่บ้านนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 475 ปีโดยชาวบ้านป่าเมี่ยงยังมีกุศโลบายในการรักษาป่าไม้อย่างแยบยล โดยมีการแบ่งพื้นที่โซนป่าออกเป็น 5 โซน ดังนี้ 1.ป่าต้นน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ชาวบ้านแบ่งออกเอาไว้สำหรับเป็นเขตอนุรักษ์เพราะเป็นป่าต้นน้ำเป็นต้นกำเนิดลำห้วยสำคัญๆ คือลำห้วยหลวง ห้วยตาแวน ห้วยวะ ใช้สำหรับการบริโภค อุปโภค และการเกษตรส่วนห้วยน้ำดังเป็นแหล่งน้ำสำหรับผลิตประปาภูเขา ในเขตป่าต้นน้ำ มีการห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด
2.ป่าเศรษฐกิจ (ป่าเมี่ยง) มีพื้นที่รวมทั้งตำบล ประมาณ 5,000 ไร่ ส่วนพื้นที่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวนมีประมาณ 3,000 ไร่ เป็นลักษณะการปลูกเมี่ยงอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่อยู่ระหว่าง เขตป่าอนุรักษ์กับป่าใช้สอยส่วนใหญ่ป่าเหล่านี้จะมีผู้ครอบครองสิทธิ์และใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็มีการอนุรักษ์ป่าไปด้วย 3.ป่าใช้สอย มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) จะเป็นพื้นที่ไม้เบญจพรรณและพื้นที่ทำการเกษตร 4. ป่าชุมชน รวมพื้นที่ทั้งหมด 2 หมู่บ้าน ประมาณ 200 ไร่บ้านศรีนาป่าน หมู่ที่ 1 มีพื้นที่ 74 ไร่ ส่วนบ้านตาแวน หมู่ที่ 4 มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ เป็นป่าที่สงวนไว้สำหรับนำไม้มาใช้ในกิจกรรมของหมู่บ้าน และ 5. ป่าพิธีกรรม หรือป่าประเพณี มีพื้นที่ประมาณ
5 ไร่ เช่น ป่าสุสาน ป่าวัดร้าง และป่าหอเจ้าหลวง ป่าเมี่ยงกระบวนการอนุรักษ์ป่าไม่ได้ทำโดยชาวบ้านคนใดคนหนึ่ง แต่ทำในรูปแบบของการรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการระดับตำบล แต่มีชาวบ้าน 2 หมู่บ้านเป็นหลัก ได้แก่ บ้านศรีนาป่าน หมู่ที่ 1 มีสมาชิก 145 คนบ้านตาแวนหมู่ที่ 4 มีสมาชิก 137 คน ใช้ชื่อกลุ่ม “เรืองรักษ์ป่า” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2540
หากมองในแง่ของเศรษฐกิจชุมชนและความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้แล้ว นับว่าเมี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ป่าคงอยู่ได้ เพราะต้นเมี่ยงต้องอาศัยอยู่ต้นไม้ใหญ่ ไม่ต้องการสารเคมีใดๆ ดังนั้นหากชาวบ้านยังคงปลูกเมี่ยง และใช้เมี่ยงเป็นพืชเศรษฐกิจหล่อเลี้ยงตนเอง แน่นอนว่าป่าจะยังคงอยู่ นั่นหมายถึงความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารอื่นด้วย ดังนั้นชุมชนที่นี่จึงมีการอนุรักษ์ป่าอย่างเหนียวแน่น มีระบบการจัดการเหมืองฝายลำห้วยหลวงอันเป็นลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตและผู้คนแถบนี้ ป่าให้น้ำ น้ำให้ชีวิต ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่า เมี่ยง และน้ำในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค
นอกจากนี้เพื่อพัฒนาป่าชุมชนและป่าเมี่ยงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ทำให้ อบต.เรือง, ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรตำบลเรือง และกลุ่มเรืองรักษ์ป่า จึงได้พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าดอยหลวง ป่าเมี่ยง และการผลิตชา ในเขตพื้นที่เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงเกษตร เนื่องจากพื้นที่ป่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์และมีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุหลายร้อยปี เช่น ต้นไฮหลวง รวมถึงมีเส้นทางประวัติศาสตร์ของชุมชน เช่น ปางมะหินฝนพร้า หรือ ท่าลับมีด เป็นต้น รวมไปถึงการตั้งศาลเจ้าหลวงป่าเมี่ยงจำลองขึ้นอีกด้วย ทำให้ชุมชนศรีนาป่าน-ตาแวน จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญของคนเมืองน่าน
โดยสรุป การทำสวนเมี่ยงและชาของชาวบ้านจึงเกื้อกูลกับการดูแลรักษาป่าเป็นยิ่งนัก เพราะเมี่ยงอาศัยป่าใหญ่ ทำให้ป่าที่นี่จึงมีความอุดมสมบูรณ์มาก ตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่าและสายน้ำคือ เต่าปูลู และจิงโจ้น้ำที่พบในลำห้วยหลวง แสดงให้เห็นความสะอาดและอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนี้ ใช้กระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านในการเปลี่ยนเมี่ยงให้เป็นชา เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเศรษฐกิจชุมชน ที่ยังคงอนุรักษ์หวงแหนป่าเมี่ยงไว้ให้คงอยู่กับชุมชนท่ามกลางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ทำร้ายธรรมชาติและตัวเอง นั่นหมายถึงการอนุรักษ์ผืนป่า ชีวิต สายน้ำ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และลมหายใจของชาวบ้านผ่านเมี่ยงหรือชานั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี