เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประสานจัดการให้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศ โดยมีหน่วยงานต่างๆ ริเริ่มพัฒนาวัคซีนต้นแบบขึ้น 6 ส่วน ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์ ไบโอเนท เอเชีย และ (สวทช.) 2.จุฬาลงกรณื และ สวทช. 3.มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์ และ สวทช. 4.มหาวิทยาลัยมหิดล (ศิริราช) และ สวทช. 5.มหาวิทยาลัยมหิดล และ 6.สวทช.ทั้งหมดที่กำลังพัฒนาอยู่ในทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก
ขณะนี้มีส่วนที่มีความก้าวหน้าในการวิจัยพัฒนา 2 ตัว โดยได้วัคซีนต้นแบบเริ่มทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว คือ ดีเอ็นเอวัคซีน และเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาวัคซีนที่ทันสมัยและรวดเร็ว ในส่วนของดีเอ็นเอวัคซีน บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ได้เริ่มทำการทดลองในสัตว์ทดลอง คือ ในหนูแล้ว และเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ ได้ผ่านการทดลองในหนู และเริ่มทดลองในลิงแล้ว
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ผ่านการทดสอบจะต้องมีขั้นตอน โดยต้องผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งในแง่ความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลอง ถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคน การทดสอบในคนจะมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30 - 50 คน ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร 250 - 500 คน และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน
ในระดับนานาชาติเริ่มมีการทดลองในคน ข้อมูล ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีทั้งหมด 10 ชนิด แยกเป็นในประเทศจีน 5 ชนิด สหรัฐอเมริกา 2 ชนิด อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลีย ประเทศละ 1 ชนิด ขณะเดียวกันมีวัคซีนในสัตว์ทดลองอีก 114 ชนิด ซึ่งรวมของประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานของประเทศไทยแม้จะเป็นไปได้ช้ากว่าประเทศแนวหน้า แต่ไม่ได้อยู่แถวหลัง อยู่ในกลุ่มที่จะต้องวิจัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้สร้างพันธมิตรกับนานาชาติในการร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยหวังว่าถ้าวัคซีนชนิดไหนพัฒนาแล้วสามารถใช้ป้องกันโรคได้ ก็จะขอร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีและมีข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น เช่น ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศจีน ที่ประเทศไทยจะร่วมในการวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตวัคซีน เป็นต้น
"การวิจัยนั้น ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ก็จะบอกระยะเวลาได้คร่าวๆ แต่งานวิจัยมีโอกาสเสมอที่จะเกิดผลไม่เป็นที่น่าพอใจและต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น เพราะฉะนั้น หากประเทศในกลุ่มแถวหน้าของการวิจัยพัฒนาดำเนินการได้สำเร็จเป็นที่น่าพอใจตามแผนทุกขั้นตอน ไม่มีข้อติดขัด วางกรอบไว้อีก 12 - 18 เดือนข้างหน้า จะมีวัคซีนโควิด-19 แต่ถ้ามีการสะดุดติดขัดตรงไหน ก็ต้องปรับรูปแบบวัคซีนใหม่ก็ใช้เวลามากรขึ้น ในส่วนของประเทศไทยวัคซีนที่พัฒนาวิจัยขึ้นเองนั้น ถ้าเป็นไปตามแผน น่าจะเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 และถ้าเป็นตามแผนจะมีวัคซีนใช้ในปลายปี 2564"
ด้าน ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนี้ผ่านการทดลองในหนูและอยู่ในขั้นทดลองในลิง ซึ่งปกติวัคซีนเมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงในช่วง 4 - 6 สัปดาห์ คาดว่าช่วงปลายเดือนมิถุนายนจะสามารถตรวจเลือดลิงเพื่อดูผลการทดลอง แต่หากผลเลือดยังมีภูมิคุ้มกันต่ำก็จะตรวจเลือดในช่วงเดือนกรกฎาคม ขณะเดียวกันได้มีการดำเนินการคู่ขนานในการจองโรงงานขนาดเล็กในต่างประเทศ เพื่อผลิตวัคซีนเนื่องจากเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ทั่วโลกน่าจะมีโรงงานประมาณ 7 แห่ง โดยไทยจะผลิตเริ่มต้นประมาณ 1 หมื่นโด๊ส เพื่อใช้ในการทดลองในคนที่เป็นอาสาสมัคร หากผลการทดลองในลิงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะฉีดให้คนละ 2 เข็ม ก็จะใช้อาสาสมัคร 5,000 คน แบ่งเป็นการทดลองในคน 3 ระยะ คาดว่าจะเริ่มในช่วงปลายปี 2563 รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมโรงงานในประเทศไทยที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศด้วย อย่างบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ก็มีความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
"อย่าเสนอว่าประเทศไทยมีวัคซีนแล้วในสิ้นปีนี้ เพราะต้องทดสอบดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน เชื่อว่าหากแต่ละขั้นตอนของการวิจัยผ่านไปได้ด้วยดีเป็นไปตามแผน ประเทศไทยน่าจะมีความพร้อมในการผลิตวัคซีนในอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง เพราะต้องทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพก่อน ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผน ปลายปี 2564 น่าจะผลิตวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยหลายล้านคนได้"
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี