ไทยวิจัยวัคซีนรุดหน้า
พย.เริ่มฉีดในคน
ทดลอง100คนแรก
คาดสำเร็จใช้ปลายปี’64
ติดเชื้อเป็นศูนย์ครั้งที่5
ธุรกิจเสี่ยงปานกลางลุ้น
‘สมช.’เคาะผ่อนเฟส3
ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยเป็นศูนย์ครั้งที่ 5 ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,040 คน กลับบ้าน 5 ราย รวมรักษาหายแล้ว 2,921 คน เหลือรักษาตัวในรพ.เพียง 63 ราย จำนวน ผู้เสียชีวิตคงที่ 56 คน โดยกทม.-ภูเก็ต-ยะลา มีผู้ปวยสะสมมากสุดสามอันดับแรก ทั่วโลกเร่งวิจัยวัคซีน โดยจีนประสบความสำเร็จระยะแรกเริ่มทดลองในคน ส่วนไทยคืบหน้า
ไม่น้อย จุฬาฯเผย 1 วัน หลังฉีดวัคซีนในลิง อาการยังปกติ ส่วนแผนทดลองในคนกลุ่มตัวอย่าง ระยะแรก เป็นอาสาสมัคร
ร้อยคนที่มีความเสี่ยงต่ำ คาดเริ่มได้เดือนพฤศจิกายน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน
ปลายปี 64 ไทยได้ใช้วัคซีนที่ผลิตเองในประเทศ ขณะที่สมช.เตรียมหารือผ่อนปรนกิจการ-กิจกรรมระยะ 3 พร้อมถกกรอบเวลาเคอร์ฟิว 27 พ.ค. ก่อนชงศบค.ชี้ขาด 29 พ.ค.
เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ จะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้กิจการและกิจกรรมเพิ่มเติมสามารถดำเนินการได้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีประเภทหรือกิจการใดบ้าง ที่เข้าข่ายผ่อนปรนในระยะ3 เพราะต้องรอให้มีการประชุม ซึ่งนำข้อมูลจากหลายส่วนโดยเฉพาะข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขจากแพทย์ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการ ปัญหาปากท้องของประชาชน ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมไว้มาประกอบการพิจารณาประกอบ โดยยึดหลักการพิจาณาเช่นเดิมคือ คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจอย่างที่เคยพิจารณาผ่อนปรนไปแล้วในระยะ 2
ระดมข้อมูลหารือคลายล็อคเฟส3
พล.อ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การพิจารณาผ่อนปรนระยะ 3 และ 4 ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่าระยะที่ 1 และ 2 ต้องพิจารณาปัจจัยประกอบหลายอย่าง อาทิ เตรียมเปิดภาคเรียนของโรงเรียนบางส่วนที่จะเริ่มเรียนในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฎาคม สภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ต้องสอดรับมีความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ธุรกิจที่รอการผ่อนปรนเตรียมตัวและปรับแนวทางการให้บริการไว้ให้พร้อม แม้ยังไม่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 อยู่แล้ว จึงขอให้เตรียมความพร้อมไว้ระหว่างนี้ได้
27พค.ถกกรอบเวลาเคอร์ฟิว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯจะพิจารณาระยะเวลาประกาศเคอร์ฟิวว่าจะยังคงไว้ที่ 23.00 น.-04.00 น.ต่อไปอีกหรือไม่ หรือหากปรับลดเวลาลงจะคงไว้ที่กี่ชั่วโมง และหากจะปรับควรขยับจากเวลา 23.00 น.เป็น 24.00 น.- 04.00 นาฬิกา หรือ เริ่มที่ 23.00 น.-03 น.โดยทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ทั้งนี้ สรุปผลประชุมวันที่ 27 พฤษภาคม จะนำเสนอที่ประชุมศบค วันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อให้ผ่อนปรนระยะที่ 3 มีผลใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน
ผู้สี่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มธุรกิจการนวดเท้า และกายภาพบำบัดในโรงพยาบาลจะได้รับการคลายล็อก ส่วนอาบอบนวด และการนวดตัวยังไม่มีลุ้น เพราะยังมีความเสี่ยงเป็นช่องทางของการแพร่เชื้อ โควิด-19 และธุรกิจบันเทิงผับ บาร์ คาราโอเกะไม่มีลุ้นในการคลายล็อกเฟส 3นี้
ป่วยเป็นศูนย์ครั้ง5-รักษาตัว63คน
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประจำวันว่า สถานการณ์ในประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงอยู่ที่ 56 ราย รักษาหายสะสมที่ 2,921 ราย รักษาตัวที่โรงพยาบาล (รพ.) 63 ราย ผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 สะสม 3,040 ราย ในจำนวนนี้พบในกรุงเทพมหานคร และจ.นนทบุรี 1,706 ราย ภาคเหนือ 95 ราย ภาคกลาง 393 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย ภาคใต้ 729 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 97 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 37 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20-29 ปี ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยมีสถิติพบผู้ป่วยตัวเลขเป็นศูนย์ 4 ครั้งได้แก่ เมื่อวันที่ 13, 16, 22, 24 พฤษภาคมตามลำดับ โดยให้ภาพรวมของประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,040 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย
“วันนี้มีข่าวดีสำหรับทุกคน ตัวเลขผู้ติดเชื้อคือ ศูนย์ราย ความน่ายินดีนี้เกิดจากการปฎิบัติตัวดีของประชาชนช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น สวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ และการเว้นระยะห่างทางสังคม” พญ.พรรณประภา กล่าว
กทม.-ภูเก็ต-ยะลาป่วยสะสมสูงสุด
และว่า สถานการณ์ในไทย ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,040 ราย พบใน 68 จังหวัด กรมควบคุมโรคจัดอันดับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 10 ลำดับแรกของประเทศไทย อัตราป่วย 4.32 ต่อแสนประชากร โดยไม่รวมผู้ที่อยู่ในระหว่างกักกันในสถานที่รัฐบาลจัดให้ (State quarantine) ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ ผู้ป่วยในพื้นที่ 1,532 ราย อัตราส่วน 27.01 (คนต่อแสนประชากร) ผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 17 ราย 2.ภูเก็ต 226 ราย อัตราส่วน 54.67 3.นนทบุรี 158 ราย อัตราส่วน 12.58 4.ยะลา ผู้ป่วยในพื้นที่ 125 ราย อัตราส่วน 23.39 ผู้ที่อยู่ระหว่างการกักกัน 8 ราย 5.สมุทรปราการ 115 ราย อัตราส่วน 8.61 ผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 1 ราย 6.ชลบุรี ผู้ป่วยในพื้นที่ 86 ราย อัตราส่วน 5.56 ผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 20ราย 7.ปัตตานี ผู้ป่วยในพื้นที่รวม 79 ราย อัตราส่วน 10.95 ผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 12 ราย 8.สงขลา ผู้ป่วยในพื้นที่รวม 44 ราย อัตราส่วน 3.07 ผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 19 ราย และอยู่ที่ศูนย์กักกันคนเข้าเมือง 65 ราย รวม 84 ราย 9.เชียงใหม่ 41 ราย อัตราส่วน 2.31 10.ปทุมธานี 39 ราย อัตราส่วน 3.38และอยู่ใน จังหวัดอื่นๆ 27 ราย ส่วนผู้ป่วยอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐบาลจัดไว้ 104 ราย และเป็นกลุ่มแรงงานใน จ.สงขลา 65 ราย
จีนทดลองวัคซีนโควิดเฟส1สำเร็จ
พญ.พรรณประภากล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศคือ ผลทดลองชี้ชัด “วัคซีนต้านโควิดจีน” ปลอดภัย-สร้างภูมิคุ้มกัน โดยผลการทดลอง“วัคซีนโควิด-19” ของจีน ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 พบปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสได้ และการทดลองแบบเปิด (open-label trial) ในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องทดลองเพิ่มเติม เพื่อพิสูจน์ว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกประกาศว่า อเมริกาใต้ เป็นศูนย์กลางระบาดใหม่โควิด-19 โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของบราซิลมีจำนวนเกือบ 350,000 คน อยู่อันดับ 2 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯและรัสเชีย แต่ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่าการที่ไม่มีการตรวจโรคอย่างกว้างขวาง ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก ด้านนายไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลกกล่าวว่า รัฐบาลบราซิลเพิ่งอนุมัติใช้ยาต้านมาลาเรีย ไฮดรอกซีคลอโรควิน(hydroxychloroquine) ทำให้มีการใช้ยาดังกล่าวในวงกว้างช่วงการระบาดของโควิด-19 ระหว่างที่ศึกษาทางการแพทย์หลายชิ้น ยังตั้งคำถามถึง ประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยาดังกล่าวขณะนี้
จุฬาทดสอบวัคซีนในลิงลุ้นผลมิย.
ขณะที่นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ปัจจุบันมีประมาณ 6-7 เทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ซึ่งจากการทดลองในสัตว์ทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวในลิงทดลอง ซึ่งปกติภูมิฯจะขึ้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่จะขึ้นสูงใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้น จะตรวจเลือดลิงรอบแรกประมาณกลางมิถุนายนนี้ ถ้าภูมิฯ ต่ำ จะไปตรวจอีกครั้งประมาณต้นเดือนหรือปลายเดือนกรกฎาคม
ทดลองในคนกลุ่มเสี่ยงต่ำร้อยคนแรก
นพ.เกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไปคือ ประสานโรงงานผลิตวัคซัน mRNA 2 แห่งคือ บริษัทไบโอเนท สหรัฐฯและไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีน 10,000 โดส เพื่อใช้ทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือไม่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ กระตุ้นได้นานแค่ไหน และป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ คาดว่าจะใช้คนละ 2 โดส ทั้งนี้ การทดลองในอาสาสมัครที่เป็นคนไทยจะแบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรก เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด- 19 ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในจำนวนโดสที่ต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ
เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 สูง และต่ำ ประมาณ 500 กว่าคน และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่เสี่ยงติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน แต่ในสถานการณ์ของไทยตอนนี้ จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับน้อย ดังนั้น เฟส 3 ก็ต้องประเมินกันอีกครั้ง อาจต้องร่วมมือกับต่างประเทศ
ดีเดย์ทดลองเฟสแรกในคนพ.ย.
“ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ วัคซีนเข็มแรกที่จะทดลองในอาสาสมัครคนไทยจะเริ่มประมาณเดือน พ.ย. ส่วนที่มีข่าวว่าจะเริ่ม ส.ค.นั้น เป็นแผนการเดิม คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ ปีครึ่ง หรือประมาณปลายปี 2564 ประเทศไทยจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยและเพื่อคนไทยได้เอง ตอนนี้ก็รอดูผลการฉีดวัคซีนในลิงว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าไม่ดีเราก็กลับมาพัฒนาเริ่มต้นที่การทดลองในหนูอีกครั้ง แต่หลังจากฉีดวัคซีนให้ลิง 1 วันตอนนี้ก็ยังปกติ ไม่มีไข้” นพ.เกียรติ กล่าว
ส่วนเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3 : BSL3) ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ นั้น เนื่องจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ไปตรวจเยี่ยมการทดลองฉีดวัคซีนในลิง พบว่าสิ่งที่เราขาดคือ ห้องที่ปลอดภัยทางชีวภาพระดับสูง ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตั้งงบสำหรับตั้ง BSL3 เป็นยูนิตฉุกเฉินก่อนในระยะ 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวัคซีนตัวอื่นด้วย
ขั้นตอนสำเร็จใช้วัคซีนปลายปี64
นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติกล่าวว่า การพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 มีหลายความร่วมมือ ทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬา และไบโอเทค สวทช. และบ.ไบโอเนท-เอเชีย เพื่อพัฒนาวัคซีนในประเทศ ให้มีทิศทางเดียวกับพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก วัคซีนที่เริ่มทดสอบในสัตว์ทดลอง 114 ชนิด ส่วนที่เริ่มทดลองในคนมี 10 ชนิดได้แก่ จีน 5 ชนิด สหรัฐ 2 ชนิด อังกฤษ 1 ชนิด เยอรมัน 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ส่วนของไทยเริ่มทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะพัฒนาสู่การฉีดในคนต่อไป
ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือผู้พัฒนาวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาวัคซีนร่วมกัน เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตต่อในประเทศไทย และเพื่อขอซื้อวัคซีนที่สำเร็จแล้วมาใช้ในประเทศไทยระยะต้น ซึ่งการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลก ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนประมาณปลายปี 2564 จะมีวัคซีนใช้ในโลก แต่หากการพัฒนาวัคซีนสะดุดติดขัด ต้องปรับรูปแบบวัคซีนกันใหม่ ดังนั้น ถือเป็นเรื่องของงานวิจัย และเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ไทย และทั่วโลก ที่ได้ใช้ความพยายามเต็มที่ พัฒนาวัคซีนด้วยความเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ด้านนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บ.ไบโอเนทขเอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากการหารือก็เห็นตรงกันว่า ช่วงโรคระบาดจะต้องเลือกพัฒนาวัคซีนที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้น DNA และ mRNA วัคซีนเป็นคำตอบ บริษัทจึงหันมาทำทาง DNA วัคซีน ซึ่งราก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และเรามีศักยภาพที่จะผลิต DNA วัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ และพร้อมรับการถ่ายทอด mRNA.
ฝ่าเคอร์ฟิวเฟส2พบ330ราย
วันเดียวกัน ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) สรุปจำนวนผู้ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม เวลา 23.00 น. จนถึงเช้าวันที่ 24 พฤษภาคม เวลา 04.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นบุคคลรวม 22,541 คน และยานพาหนะ รวม 17,248 คัน จับกุมผู้ฝ่าฝืนได้ รวมทั้งสิ้น 330 คน ประกอบด้วยผู้ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันควร ขับขี่ยานพาหนะเล่น เดินทางกลับที่พัก หลังเวลาเคอร์ฟิว ออกมาทำธุระและอื่นๆ 303 ราย รวมตัวมั่วสุมในเคหสถานเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รวม 27 ราย แบ่งเป็น เหตุแห่งการชุมนุมมั่วสุม 3 อันดับแรกได้แก่ ดื่มสุรา 19 ราย ลักลอบเล่นการพนัน 5 ราย และเสพยาเสพติด 3 ราย
ทั้งนี้ มีสถิติการจับกุมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหสถานสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ จ.ภูเก็ต 27 ราย จ.ปทุมธานี 26 ราย และ จ.ชลบุรี 17 ราย สำหรับผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
กทม.ย้ำใส่หน้ากาก-เว้นระยะ
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดนัดเมืองมีน เขตมีนบุรี และตลาดนัดธนบุรี เขตทวีวัฒนา นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่แจกแอลกอฮอลล์ล้างมือให้ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการ ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ โดยนางวัลยากล่าวว่า หลังมีมาตรการผ่อนปรน และเปิดตลาดให้ประชาชนมาใช้บริการ จึงมอบให้สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร นำแอลกอฮอลล์ล้างมือมาแจกให้ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการตลาด ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ยังประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ค้าให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ทำการค้า ล้างมือบ่อยๆ จัดหาเจลล้างมือประจำแผงค้า เพื่อบริการลูกค้าที่มาใช้บริการ ดูแลลูกค้าให้เว้นระยะห่างระหว่างเลือกซื้อสินค้า และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยที่กรุงเทพมหานครกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่าผู้ค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในเรื่องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ร้านจำหน่ายอาหารจัดทำแผงกั้นและเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ด้านกิจการที่ต้องขอความร่วมมือเป็นพิเศษ อาทิ ร้านแต่งเล็บ ร้านทำผม ได้เน้นย้ำให้รักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี