เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุมชั้น 22 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) (ถนนศรีอยุธยา) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) แถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ เรื่องความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด mRNA เข็มแรกที่ทดสอบในลิงเห็นผลสำเร็จดี เตรียมฉีดเข็มที่ 2 และเตรียมทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป
นายสุวิทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่เพื่อเป็นสักขีพยานการทดสอบวัคซีนโควิด-19 หรือ mRNA ของประเทศไทย ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง อว., สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยจะขอแจ้งให้ทราบว่าในขณะนี้พบว่า ลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อนักวิจัยได้ทำการเจาะเลือดของลิงมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีนั้น มีข่าวดีมากว่าลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นวันนี้ทีมนักวิจัยจึงได้เดินหน้าต่อไปตามแผน โดยจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่สอง หากเป็นไปตามที่คาดไว้จะทำการทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด
"วันนี้ผมได้มอบให้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นำคณะผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชน ติดตามความคืบหน้าของการทดสอบวัคซีน เพื่อให้คำแนะนำและเตรียมรายละเอียดการดำเนินงานในขั้นต่อไป ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ด้มอบหมายให้กระทรวง อว. และ สธ.ร่วมกันดำเนินงานเชิงรุกในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จ เพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนใช้ได้อย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรก ๆ ของโลก"นายสุวิทย์ กล่าว
ด้านศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวถึงผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง ซึ่งเป็นผลงานของทีมวิจัยจุฬาฯ โดยการสนับสนุนจาก วช. และสถาบันวัคซีนแห่งชาติว่า หลังจากได้ทดลองวัคซีนโควิด-19 ในลิง เข็มแรกเมื่อ 23 พ.ค. ที่ผ่านมาพบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง และมีพฤติกรรมปกติ ไม่พบอาการแพ้ในบริเวณที่ฉีด และไม่พบการผิดปกติของระบบสำคัญของร่างกายทั้งระบบสมองและประสาท ระบบหัวใจ และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแสดงถึง ความปลอดภัยของวัคซีน และที่สำคัญเมื่อนักวิจัยได้ทำการเจาะเลือดของลิงมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีพบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่น่าพอใจ ดังนั้นทีมวิจัยจึงเดินหน้าต่อไปตามแผนโดยฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 2 ในวันนี้ (22 มิ.ย.63)
ขณะที่ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า หากได้ผลการทดสอบในเข็มที่ 2 เป็นไปตามที่คาดไว้ จะเริ่มทดสอบฉีดเข็มที่ 3 ได้ภายในปลายเดือนก.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือน ต.ค. - พ.ย. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และหากประสบความสำเร็จคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ใช้ตานโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้คนไทยได้ใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นลำดับแรกๆ ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำของโลก คือภายใน 12-18 เดือน หรือไม่เกินกลางปี 2564
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า ผลการทดสอบวัคซีนในลิง ที่ทีมวิจัยหวังไว้สูงสุดคือคือสองเข็ม ซึ่งเข็มแรกได้ผลเป็นที่น่าพอใจคือสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่สามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลอง สิ่งที่ต้องลุ้นต่อก็คือหลังจากฉีดเข็มสองในวันนี้(22มิ.ย.) ซึ่งต้องนับไปอีกประมาณ 2 สัปดาห์ว่าจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นอีกกี่เท่า
"หากได้ผลตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือมีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ จะเลือกวัคซีนตัวนี้เข้าสู่โรงงานผลิตวัคซีนในต่างประเทศที่ติดต่อไว้แล้วเพื่อผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบในคนจำนวน 1 หมื่นโดส สำหรับทดสอบในอาสาสมัครประมาณ 5 พันคน"ศ.นพ.เกียรติ ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี