ปัญหาเยาวชน กลายเป็นปัจจัยหลักของสังคมมนุษย์ในทุกประเทศ จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นปัญหาพื้นฐานที่ไม่อาจจะห้ามมิให้เกิดเป็นปัญหาได้ และยิ่งสังคมเติบโตมากขึ้น ความเจริญทางด้านวัตถุมากขึ้น ปัญหาของเยาวชนก็ยิ่งขยายเพิ่มมากขึ้นตามความเติบโตของสังคม และเทคโนโลยี
ทุกประเทศจึงทุ่มเทสมองหาวิธีที่จะบรรเทาปัญหาของเยาวชนให้ลดน้อยลง แล้วแต่ว่าประเทศใดจะมีความตั้งใจ และมีสติปัญญามองเห็นทางแก้ไขปัญหา และการยุติให้ปัญหาเจริญงอกงามมากขึ้นแค่ไหน
ผมมีโอกาสได้ไปรับฟัง แนวความคิดของ ดร.สกุลรัตน์ กมุทมาศ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการศึกษาทั้งไทยและเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการอบรมและพัฒนาแห่ง สถาบันนิวไลฟ์ เลิร์นเนอร์ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 223 ถนนคลังอาวุธ หมู่ 11 ต.ขามใหญ่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี 34000 พูดถึงการแก้ปัญหาของเยาวชน ในฐานะที่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนนานนับสิบๆ ปี แสดงแนวคิดถึงการแก้ปัญหา และการตัดการเติบโตของปัญหาอันเกิดจากพฤติกรรมของบรรดาวัยรุ่น ด้วยการ นำเอา“ระเบียบ และ วินัย” มาเป็นบรรทัดฐาน โดย ดร.สกุลรัตน์ ได้ให้คำนิยามของระเบียบและวินัย ไว้ว่า “วินัย” เป็นคำง่ายๆ แต่ความหมายลึกซึ้ง และเป็นเหมือนปัจจัยหลักที่หล่อเลี้ยงอยู่ในสภาพจิต และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์“วินัย เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ แต่สามารถควบคุม (บังคับ) ใจตนเองให้ทำตามกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ส่วนระเบียบเป็นรูปธรรม หมายถึง กฎเกณฑ์ที่เขียนขึ้นจะศักดิ์สิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อคนมีวินัย คือบังคับใจตนเองให้ทำตามกฎจนเคยชิน
ตามธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ จะเริ่มต้นเรียนรู้จาก บิดา-มารดา อบรมสั่งสอนตั้งแต่จำความได้จนเติบใหญ่ ญาติพี่น้องและชุมชนจะเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เขาประพฤติ ปฏิบัติตาม โตขึ้นเข้าโรงเรียนครูจ้ำจี้จ้ำไซ อยู่ 2 ประการหลักๆ คือ ให้นักเรียนเป็นคนดีมีคุณธรรม และเก่งในหลักวิชาการ ด้วยเหตุนี้เอง พฤติกรรมของผู้ใหญ่ และ พฤติกรรมของสังคมจึงเป็นแม่แบบที่เด็กและเยาวชนพร้อมจะลอกเลียนเอาเป็นแบบอย่างได้ ทุกประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้ว ผู้ใหญ่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก จะทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรก็ไม่ทำ เพราะกลัวคนรุ่นหลังจะเลียนแบบ
ความดีเลียนแบบยากเพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ส่วนความไม่ดีเรียนแบบง่าย เช่น ติดยาเสพติด ลักขโมย อารมณ์ร้อนขาดเหตุผล จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในสังคม ตีรันฟันแทง และเกะกะระรานผู้อื่นที่ทำอะไรไม่ถูกใจตนเอง เพราะเป็นรูปธรรมมองเห็นได้ง่าย และมองเห็นกับตา
สังคมไทยยุคปัจจุบันเกิดการเลียนแบบในทางที่ไม่ดีขึ้นบ่อยๆ จนไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร เช่น เปิดเทอมวันแรก ก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลงในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่า นักเรียนตีกันโดยใช้อาวุธ เกิดการบาดเจ็บถึงชีวิต พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง สังคม ครูบาอาจารย์ ได้แต่มองตากันปริบๆ แม้แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ก็ดูเหมือนจะหมดปัญญาที่จะสร้างมาตรฐานที่ดีงามสำหรับสังคม
ทำไมไม่มีใครมองตัวอย่างของคนเก่งๆ ดังๆ ที่เป็นคนดีอาจจะเป็นดาราดังๆ เด่นๆ ที่เข้าวัดบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนควรจะฝึกนิสัยให้นักเรียนรักการอ่านชีวประวัติของคนเก่งและดี พัฒนาตนเองจนรุ่งเรืองและช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง
ส่วนพ่อ-แม่ ผู้ปกครองทั้งในสถาบันครอบครัว และสถาบันชาติ ก็ต้องปลูกฝังสร้างวินัยให้ลูกหลานตั้งแต่จำความได้จนเติบใหญ่ เพราะวินัยจะเป็นตัวไปช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตามตามระเบียบ(ของสังคม) ซึ่งหากวินัยเข้มแข็ง ระเบียบก็จะเต่งตึง ไม่หย่อนยาน สังคมก็จะปราศจากข้อบกพร่อง หรือปัญหาที่จะติดตามมา
สังคมใดที่เยาวชน ขาด “วินัย” อาจเกิดจากพ่อ-แม่ ไม่เข้มแข็งไม่เข้มงวดเรื่องวินัยของลูกหลาน ครูบาอาจารย์ไม่สามารถสร้างวินัยให้กับนักเรียนนักศึกษาได้เพราะไม่ใส่ใจหรือไม่รู้วิธี ขณะเดียวกันผู้รักษากฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์และบังคับคนให้ทำตามกฎได้ เยาวชนรุ่นใหม่ก็จะไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ผู้ใหญ่ก็จะไม่กลัวกฎหมาย ดังนั้นทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันสร้างวินัยให้กับเยาวชนเพราะถ้าคนในสังคมมี “วินัย” ตั้งแต่เด็กๆ ชาตินั้นๆ ก็จะเป็นชาติที่พัฒนา เจริญรุ่งเรือง เพราะกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ศักดิ์สิทธิ์
คิดตื้นๆ อาจมองไม่เห็นความสำคัญของ วินัยและระเบียบ แต่ถ้าคิดให้ลึกๆ ระเบียบและวินัย เป็นความสำคัญในชีวิต อย่างที่ ดร.สกุลรัตน์ กมุทมาศ ท่านกล่าวเอาไว้จริงๆ
ชนิตร ภู่กาญจน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี