“กรมพัฒนาที่ดิน” ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตตามศักยภาพของพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการซื้อกับปริมาณความต้องการขายสินค้า เพื่อเกษตรกรจะขายสินค้าได้ราคาดีไม่มีผลผลิตส่วนเกิน
นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจำแนกดินเพื่อให้ทราบถึงข้อจำกัดของดินในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำมาเชื่อมโยงกับความต้องการของพืช เนื่องจากพืชแต่ละชนิดจะใช้ประโยชน์จากหน้าดินที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการสำรวจการระบายน้ำของดิน โครงสร้างของดิน การกำเนิดดิน ปัญหาดินเปรี้ยว ดินทราย ดินตื้น ดินด่าง และดินกรด เป็นต้น ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และกำหนดโซนนิ่งพื้นที่การเพาะปลูกได้ โดยมีการจัดขั้นความเหมาะสมในแต่ละพืช อยู่ 4 ระดับด้วยกัน คือ เขตที่เหมาะสมมาก เหมาะสมปานกลาง เหมาะสมน้อย และไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าดินที่เหมาะสมกับพืชนั้นๆ การลงทุนจะต่ำลง รายได้ก็จะเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้มีการประกาศเขตความเหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจไปแล้ว 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ล่าสุดได้มีการประกาศเพิ่มอีก 7 ชนิด ได้แก่ ลำไย สับปะรด มังคุด ทุเรียน เงาะ มะพร้าว กาแฟ โดยได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวผ่านกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินได้สนับสนุนข้อมูลการกำหนดเขตโซนนิ่ง เพื่อให้แต่ละจังหวัดนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัด รวมทั้งจัดทำแผนการผลิตระดับจังหวัดให้สอดคล้องกับเขตความเหมาะสม ทั้งนี้คาดว่าทุกจังหวัดจะทำโครงการเสร็จพร้อมทั้งส่งข้อมูลดังกล่าวกลับมายังกระทรวงเกษตรฯภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 นี้
สำหรับหลักสำคัญในการกำหนดเขตโซนนิ่งนั้น มีอยู่ 3 ประการ คือ เพื่อให้ได้พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด เพื่อให้การผลิตพืชแต่ละชนิดสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีศักยภาพในการพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแต่ยังต้องการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดิมอยู่ ก็สามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ถ้าเกษตรกรปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมจะมีผลผลิตที่ดี ต้นทุนต่ำ แต่หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมน้อยหรือไม่เหมาะสมจะมีผลผลิตต่ำ และต้นทุนสูง น่าจะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และมีรายได้ดีกว่า ทั้งนี้ หากเกษตรกรเห็นว่าตัวเองมีขีดความสามารถที่จะทำได้ดี เสมือนเป็นต้นแบบ รัฐบาลก็จะสนับสนุนส่วนที่ขาดเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ทุน การเข้าถึงในด้านต่างๆ และการตลาด เพื่อนำไปสู่การเป็นเกษตรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer
“เมื่อก่อนเรื่องดินไม่ค่อยมีใครสนใจ แต่วันนี้ดินถือเป็นหัวใจสำคัญของฐานการเกษตร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการบำรุงรักษาดิน เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ได้” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี