มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการ “สร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia” โดยการสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง และกระทรวงพาณิชย์ ด้วยงบประมาณ 452,600 เหรียญสหรัฐฯ ตั้งเป้าปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของให้เป็นศูนย์กลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce : CBEC) เพื่อส่งออกสินค้าไทยผ่านเส้นทาง R3A เชื่อมเขตการค้าเสรีคุนหมิง โดยสร้างต้นแบบธุรกิจ CBEC พร้อมอาศัยโครงข่ายรถไฟของจีนที่ กระจายสินค้าไปในจีนและเชื่อมถึงยุโรป
รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับความไว้วางใจจากกรมเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ และกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ทำหน้าที่วิจัยเพื่อเสนอแนะกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนในเส้นทาง R3A สำหรับการค้าในรูปแบบ Cross Border E-commerce และการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟจีนเพื่อการขนส่งสินค้าสู่ปลายทางในทวีปยุโรป ด้วยงบประมาณ 452,600 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14 ล้านบาท เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อการฝึกอบรมผู้ประกอบการ บุคลากร ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนระหว่างประเทศไทย ประเทศจีนกับประเทศอื่นๆในกลุ่มความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อมุ่งสู่โลกาภิวัตน์ใหม่ที่ทุกๆประเทศสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการมีศูนย์ China Intelligence Center (CIC) หน่วยงานดำเนินการ ภายใต้สังกัดของวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการสร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia โดย ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce: CBEC) เสนอแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ ให้เป็นศูนย์กลาง CBEC ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านเส้นทาง R3A และเขตการค้าเสรีคุนหมิง โดยสร้างต้นแบบธุรกิจ CBEC และจัดฝึกอบรมเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟของจีนที่สร้างเชื่อมต่อลงมาจากคุนหมิงถึงบ่อหาน เพื่อกระจายสินค้าไปในจีนและเชื่อมถึงยุโรป
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ก่อนหน้านี้ 4 โครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 52 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน 2) โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน 3) โครงการจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง และ 4) โครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ประกอบด้วย สมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน มีความร่วมมือสำคัญ 5 สาขา ได้แก่ ความเชื่อมโยง การพัฒนาศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ความร่วมมือทรัพยากรน้ำ เเละการเกษตรและการลดความยากจน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานงานหลักของไทย ในสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน สำหรับในปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่า 95,006 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 44,479 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 50,527 ล้านเหรียญสหรัฐ
ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ว่า ทางศูนย์จะดำเนินโครงการนี้ให้บรรลุวัตถุประสงค์สำคัญคือ การศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง Cross Border E-Commerce เพื่อผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของให้เป็นศูนย์กลาง CBEC อันจะทำให้ขั้นตอนการส่งออกสินค้าไทยผ่านเส้นทาง R3A และเขตการค้าเสรีคุนหมิงได้สะดวกขึ้น โดยอาศัยประโยชน์จากเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟของจีนที่สร้างเชื่อมต่อลงมาจากคุนหมิงถึงบ่อหาน เพื่อกระจายสินค้าไปในจีนและเชื่อมถึงยุโรปได้ในอนาคต
นอกจากนั้นทางศูนย์ฯ ยังจะได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ China Intelligence Center โดยการสนับสนุนของกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง แผนงานคนไทย 4.0 โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเครือข่ายธุรกิจ Biz Club ประเทศไทย เพื่อ สร้างหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการจากฐานของงานวิจัย สร้างโอกาสทางการตลาดสินค้าของเครือข่ายธุรกิจที่จะสามารถเชื่อมโยงในการทำตลาดร่วมกัน การดำเนินกิจกรรมภายในโครงการฯ รวมถึงการจัดฝึกอบรม สัมมนาร่วมกัน การร่วมจัดงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การแนะนำใช้ระบบการค้าแบบ O2O E-commerce ทั้งเพื่อสนับสนุนการค้าภายในประเทศและกรอบการค้าข้ามพรมแดน ในเขตการค้าล้านช้าง-แม่โขง และเขตทางการค้าอื่นๆ เป็นต้น
สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง หรือ Mekong - Lancang Cooperation ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน ใน 2 มณฑล ได้แก่ มณฑลยูนนาน และเขตปกครองพิเศษกว่างซีจ้วง มีพื้นที่ความร่วมมือนี้มีประมาณ 2,600,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรรวมประมาณ 350 ล้านคน โดยผู้นำจีนประกาศจัดตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Specia Fund) โดยสนับสนุนเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเวลา 5 ปี ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อสนับสนุนโครงการเร่งด่วนซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี