สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสCOVID-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา
ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนึ่งของการใช้ถุงมือยางในกิจกรรมต่างๆ คือ มีเชื้อโรคติดอยู่ที่พื้นผิวถุงมือยาง แต่กลับไม่เคยมีการศึกษาจริงจังว่า ถุงมือที่ใช้มีส่วนช่วยในการกระจายเชื้อโรค หรือเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคระหว่างบุคคลมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เพื่อลดการแพร่เชื้อและหยุดการกระจายเชื้อโรคผ่านถุงมือยาง จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อใช้ในพื้นที่เสี่ยงด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลาโดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ซึ่งเป็นถุงมือที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อไวรัสได้ด้วยตนเอง ได้ประมาณ24 ชม. ตามปริมาณสารเคลือบที่หลุดร่อนจากการใช้งาน ทั้งนี้ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อผลิตขึ้น 30,000 คู่เพื่อนำไปใช้กับผู้ปฏิบัติงานที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในชุมชนต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลา 3-6 เดือนจึงสามารถสรุปผลการทดลองและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอขึ้นทะเบียน และผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ในการเคลือบสารนาโนอิมัลชันจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตประมาณคู่ละ 0.50-1.00 บาท
ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนายางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางในประเทศไทยผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำยางสังเคราะห์มาผลิตเป็นถุงมือยางมากขึ้นเพราะสะดวกต่อการขึ้นรูป ปริมาณการใช้น้ำยางพาราจากธรรมชาติจึงน้อยลง เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วมีการใช้น้ำยางสังเคราะห์ 9 ส่วน ในขณะที่ใช้น้ำยางจากธรรมชาติเพียง 1 ส่วนเท่านั้น แต่ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรค
โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางมีมากขึ้น หากงานวิจัยการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ประสบผลสำเร็จ จะทำให้ความต้องการถุงมือยางที่ผลิตจากน้ำยางธรรมชาติมีมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยยกระดับปริมาณการใช้น้ำยางธรรมชาติให้มากขึ้น ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา
ด้านดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ภายใต้ภารกิจสำคัญของ วช. คือ การส่งเสริมวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศด้านการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก วช.ได้สนับสนุนโครงการดังกล่าว เพื่อนำวัตถุดิบที่มีอยู่มากในภาคใต้ประจำท้องถิ่นคือ น้ำยางพารามาประยุกต์ใช้ในการดูแล ป้องกันประชาชนจากการติดเชื้อโรค เและถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปยังชุมชนท้องถิ่นเพื่อยกระดับการผลิต ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี