16 ก.ย.56 "แนวหน้าออนไลน์" นำคลิปซึ่ง พล.ต.ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ พระนามลำลองว่า "ท่านใหม่" พระโอรส ลำดับพระองค์ที่ 4 ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว Chulcherm Yugala ระบุว่า มีแฟนคลับส่งมาให้ชม ชื่อคลิป "พระราชกรณียกิจเรื่องน้ำ ของในหลวง" ความยาว 9 นาที ซึ่งโพสต์โดย aetepz เมื่อ 19 ต.ค.2011 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาเป็นพระราชกรณียกิจ ที่ "ในหลวง" ทรงสละพระวรกาย เพื่อพสกรนิกรชาวไทยอันเป็นที่รักยิ่ง
คลิปดังกล่าว ได้สัมภาษณ์ผู้ที่ถวายงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์อันประทับใจที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลากหลายมุมที่เราอาจไม่เคยทราบมาก่อน รวมถึงภาพความประทับใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จย่า ของปวงชนชาวไทย และภาพหาชมยากอีกหลายๆ เหตุการณ์
พล.ต.ม.จ.จุลเจิม ยุคล เขียนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยมีเนื้อหาดังนี้
ในหลวงรักคนไทยอย่างไร ตอนที่ ๖
มีแฟนคลับของผม ส่ง Clip นี้มาให้ผม ต้องขอบคุณอย่างมาก ผมดูแล้ว......อยากให้ทุกท่านดูให้จบก่อนนะครับ..แล้วค่อยอ่านสิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้...(ถ้าหากดูไม่จบแล้วก็อาจจะเข้าใจผิดได้)
http://www.youtube.com/watch?v=_FwONGdrU8Q
(ขอบคุณ แฟนคลับ ผู้ส่งสิ่งดีๆ ให้ผมได้ร่วมรับรู้ครับ.และคุณ aetepz เจ้าของClip)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักและห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรธรรมดาๆ มากที่สุด โดยเฉพาะชาวนา และเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะหากชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านั้นไม่ปกติ ไม่มั่นคงแล้ว รากฐานครอบครัวของพวกเขาก็จะไม่มั่นคงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้รากฐานของประเทศก็จะคลอนแคลน และหากหมู่บ้านล่มสลาย ประเทศก็คงพินาศตามไปด้วยอย่างแน่นอน
จากการที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทุกข์สุขของราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด บางครั้งทรงต้องใช้เวลาทรงงานอย่างยาวนานในบางพื้นที่ ถึงมืดค่ำ เพื่อทรงรับฟังปัญหาและทุกข์ สุขของราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ทำให้ทรงรับทราบถึงปัญหาต่างๆ ของราษฎร และเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่พสกนิกร สังคม และประเทศอย่างมากมาย ซึ่งล้วนอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยในราษฎรและแผ่นดินไทย และได้ทรงตระหนักดีว่า แผ่นดิน (ดิน) และน้ำเป็นต้นทุนที่สำคัญแก่ชีวิตคนไทยทั้ง ๖๕ ล้านคนมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “น้ำ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเกี่ยวกับเรื่องน้ำใน 3 ด้านคือ น้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเสีย จึงนำมาซึ่งแนวทางพระราชดำริในการแก้ปัญหาน้ำที่สำคัญๆได้แก่ การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ การแก้ปัญหาน้ำท่วมและการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรื่อง “น้ำ” ได้แก่ โครงการฝนหลวง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการรักษาต้นน้ำลำธาร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โครงการบรรเทาน้ำเน่าเสีย และสุดท้าย คือโครงการแก้มลิง
คราวที่ประเทศของเราประสบวิกฤตเรื่องค่าเงินเมื่อสิบกว่าปีก่อนนั้น นักวิชาการและท่านผู้รู้หลายๆท่าน ได้บอกตรงกันว่า ที่เศรษฐกิจไทยล่มในครั้งนั้น แต่ประเทศเรายังอยู่รอดมาได้ เพราะประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานสังคมของการเป็นเกษตรกรรมส่วนใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเราเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา และการเกษตรกรรม มากกว่าการอุตสาหกรรม มีแม่น้ำไหลผ่านจากทิศเหนือจรดทิศใต้ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวแผ่นดินของเรา นี่แสนอุดมสมบูรณ์.........
น้อยคนนักที่จะกล้าคาดคิดว่า ประเทศไทยเราที่มีลุ่มน้ำมากถึง ๒๕ ลุ่มน้ำ ในปัจจุบันจะเกิดความแห้งแล้งหนักในหน้าร้อนถึง ๕๐ กว่าจังหวัด และน้ำท่วมในหน้าฝนอย่างหนักเช่นกัน วนเวียนซ้ำซากทุกปี ซึ่งเป็นภาระหนักอึ้งของเกษตรกร และชาวนา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (ที่รัฐบาลอยากจะ ตั้งกองทุนเพื่อนำมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการในระยะยาว วงเงิน 350,000 ล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าถ้ารัฐฯ ทำตามแนวทางพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องของ “น้ำ” และ “การชลประทาน” ไม่น่าจะถึง350,000 ล้านบาท ผมไม่ใช่นักวิชาการซะด้วย ผมเพียงนึกถึงเรื่อง เศรษฐกิจ พอเพียง ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อกัน จนเกินตัว ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน บนความเพียงพอที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเอง เท่านั้น) แต่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานและน้ำพระทัยที่ทรงมุ่งมั่นในการแก้ไข และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ ชาวนาให้ดีขึ้น มีอยู่เต็มเปี่ยมในพระราชหฤทัยเสมอ ได้ทรงแสดงให้เราทุกคนเห็นว่า เราสามารถสู้กับภัยธรรมชาติได้ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการเรื่อง “น้ำ” และ “การชลประทาน”ให้ดี (โดยไม่ต้องกู้เงินให้มากมายขนาดนั้น) ด้วยความเข้าใจ เข้าถึงของ “ธรรมชาติของน้ำ”
พระองค์ทรงเอาใจใส่ดูแล เรื่อง “น้ำ” อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษา“น้ำ” ไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกๆ คนที่มิใช่ชาวนา หรือเกษตรกร แต่รวมถึงประชาขนคนธรรมดาสามัญ ก็ควรมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากร“น้ำ” นี้อย่างเพียงพอ และเสมอภาคกันด้วย เพราะ โดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงต้องพึ้ง “น้ำ” เป็นหลัก “น้ำ” คือเส้นโลหิตใหญ่ของเศรษฐกิจไทย “น้ำ” จึงเป็นทรัพยากรหรือต้นทุนสร้างชาติ ที่คนไทยได้มาเปล่าๆ จากธรรมชาติที่บรรพบุรุษเราเก็บไว้ รักษาไว้ให้พวกเรา พวกเราควรรักษาไว้ ให้คนไทยทุกคนมี “สิทธิ” ได้ใช้ ได้กินอย่างเท่าเทียมกัน มี “โอกาส” เข้าถึงอย่างถ้วนหน้า เป็นเจ้าของกันทุกคน ให้สืบทอดถึงลูกหลานเหลนโหลนอย่างแท้จริง
“…เราเรียกแผ่นดินนี้ว่าแผ่นดินแม่ เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิดและเลี้ยงดูคนไทยมากว่า ๗๐๐ ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ถ้าเรามัวแต่ตักตวงผลประโยชน์จากผืนดิน… สักวันหนึ่งแผ่นดินแม่คงตายจากเราไป โดยไม่มีวันหวนกลับคืนมา คงเหลือไว้ซึ่งพื้นดินที่แห้งแล้ง สิ้นสภาพจากการเป็นดินที่จะทำการเพาะปลูกได้ คงจะมีแต่ฝุ่นตลบไปหมด เสมือนแผ่นดินที่ไร้วิญญาณไร้ความหมายใดๆ ต่อชีวิตบนผืนโลก ขณะนี้ เรายังมีเวลาและโอกาสที่จะฟื้นฟูรักษาแผ่นดินแม่…”
(พระราชดำรัส ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๕)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงต่อสู้เรื่อง “น้ำ” และ “การชลประทาน” มาตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ต่อสู้เรื่อง“น้ำ” นี้มายาวนานกว่า ๕๐ ปี ตามที่พระราชดำรัส ของสมเด็จพระราชินี พระราชทานเมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๕ ว่า
.“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ ...พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงให้เห็นแล้วว่า เพื่อความผาสุกของราษฎรของพระองค์ กับการต่อสู้ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ได้ทรงงานอย่างหนัก ทรงมีพระราชปณิธานเพื่อราษฎรและแผ่นดินไทย ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร ในเรื่องของ“น้ำ” และ “การชลประทาน” เพื่อช่วยเหลือราษฎร เกษตรกร และชาวนา ให้พ้นจากความทุกข์ยาก ทรงมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร เพราะเศรษฐกิจ คือรากฐานของการเมือง ดังนั้น
การเกษตร การชลประทาน จะทำให้ราษฎรของพระองค์ลืมตาอ้าปากได้
ได้มีราษฎร ชาวไร่ ชาวนา ในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ได้กล่าวถึงเขื่อนภูมิพลไว้ว่า “แค่ชื่อ “ภูมิพล” ก็ขลังแล้ว เพราะมันคือชื่อของพ่อผู้มุ่งมั่น หาน้ำ เก็บน้ำ ไว้ให้ลูกหลานคนไทยได้ใช้อย่างจริงจังมานานแล้ว แต่น่าเสียดาย...ที่พ่อหาน้ำไว้ให้แล้ว เราน่าจะใช้ให้คุ้มค่า แต่นี่พวกเรากลับใช้น้ำกันสุรุ่ยสุร่ายเหมือนของฟรี..”
ผมเขียนเรื่องในหลวงรักคนไทยอย่างไร มิได้เพียงหวังให้เข้าใจในสถาบันอย่างถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น แต่หวังให้ทุกท่าน เล่าขานต่อๆ กันไป จากคนต่อคน จากบ้านถึงบ้าน จากเมืองสู่ป่า จากป่าสู่เมือง ให้ได้ยินกันทั่วทุกเขตคาม ทั่วแคว้นแดนสยาม เพื่อให้ทุกคนรู้และลงมือทำ “ปฏิบัติบูชา” และขอยกข้อความของเพื่อนสมาชิกใน FB ผมท่านหนึ่ง (คุณ Sim Cha –ขออนุญาตเอ่ยนามท่าน) ว่า “คนที่คิดจะทำลายสถาบัน ต้องมาอ่านเพจเหล่านี้บ้างแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าการถ่ายทอดจากประโยคต่อประโยคจะให้ความรู้สึกมากมายได้ขนาดนี้ คนที่ผูกพันกับสถาบันมาแต่เกิด เมื่อได้อ่านยิ่งผูกพัน”
เพราะฉะนั้น เราต้องต่อสู้กันอย่างสุดฤทธิ์หรือไม่ เราต่อสู้กันถึงที่สุดหรือยัง เราต่อสู้กันอย่างถูกต้องหรือเปล่า มิฉะนั้นแล้ว แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของเราก็คงไม่พ้นที่จะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบการผลิตและเศรษฐกิจสมัยใหม่ (โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจทุนนิยม) เราจะต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง เราจะต่อสู้ รับมือกับการเปลี่ยนแปลง จากภาคเกษตรกรรม มาเป็นภาคอุตสาหกรรม แทนนั้นได้อย่างไร
ถ้าเราไม่สู้ในวันนี้แล้ว ในตอนที่พวกเรามีชีวิตอยู่ แล้วเราจะอยู่สู้หน้าลูกหลานรุ่นต่อไป ได้อย่างไรกัน ครับ
ทรงพระเจริญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี