สังฆราช หรือที่เรียกในสังฆมณฑลไทยว่า สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นตำแหน่งสมณะศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย
พระสังฆราชในประเทศไทยเรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช คือประมุขแห่งคณะสงฆ์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก
สังฆราชในสังฆมลฑลไทย กฎหมายกำหนดให้มีพระองค์เดียวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความแตกแยกสามัคคีในหมู่สงฆ์ จึงเท่ากับดำรงอยู่ในฐานะ พระสังฆบิดร ด้วย
สำหรับขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 นั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 7 ใจความว่า พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราช
ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายก รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดย สมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช"
ขยายความว่า พระที่จะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
1.ต้องมีสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระราชาคณะ เท่านั้น นอกนั้นไม่สามารถเป็นได้ ดังนั้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องนำมาพิจารณา และที่สำคัญท่านก็คงไม่ต้องการด้วย
2.ต้องมีอาวุโสโดยสมณศักดิ์ ไม่ใช่ อาวุโสโดยอายุพรรษา นั่นคือได้เข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน หากเข้ารับในวันเดียวกัน ต้องเป็นรูปที่อยู่หน้า และสามารถปฏิบัติหน้าได้ แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำเนียมปฏิบัติ มหาเถรสมาคมต้องขอให้ท่านสละตำแหน่งอาจโดยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร จากนั้นก็พิจารณาสมเด็จพระราชาคณะรูปต่อไป
3.นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม นำเสนอนามขึ้นทูลเกล้า
4.ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย มีไหมในกรณีที่ไม่ทรงลงนาม ยังไม่เคยมี
สำหรับลำดับของสมเด็จพระราชาคณะ เรียงลำดับความอาวุโสตามสมณศักดิ์ ดังนี้
1.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ปธ.9) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (มหานิกาย) เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง ถือว่ามีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2538 เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2468 อายุ 88 ปี
2.สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2544 เกิดวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2460 อายุ 95 ปี
3.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2552 เกิดวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 อายุ 86 ปี
4.สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2552 เกิดวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2479 อายุ 77 ปี
5.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (มหานิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2553 เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2473 อายุ 83 ปี
6.สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร (ธรรมยุติกนิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2553 เกิดวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2490 อายุ 66 ปี
7.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร (มหานิกาย) ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อ พ.ศ.2554 เกิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 อายุ 72 ปี
สำหรับระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แทนองค์เดิมนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชไปแล้ว 6 รูป ตั้งแต่ลำดับที่ 14 ถึง 19 โดยมีระยะเวลาการสถาปนาดังนี้
ลำดับที่ 14 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 1 ปี 5 เดือน
ลำดับที่ 15 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย ปธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน
ลำดับที่ 16 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี ปธ.9) วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 6 เดือน
ลำดับที่ 17 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ปธ.6) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
ลำดับที่ 18 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน ปธ.4) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
ลำดับที่ 19 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ปธ.9) วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ระยะเวลาสถาปนา 7 เดือน
ตามธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะยึดหลัก "สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์"
ส่วนระยะเวลาการสถาปนาไม่มีระเบียบปฏิบัติว่าต้องสถาปนาในวันสำคัญ ส่วนใหญ่จะสถาปนาช่วงกลางปี ระหว่างเดือนเมษายน - พฤศจิกายน แต่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ ระยะเวลาสถาปนา 10 เดือน (องค์ที่ 15) สถาปนาในวันฉัตรมงคล
สำหรับการสถาปนาพระราชาคณะ (การตั้งชื่อ) พระธรรมคุณาภรณ์ หรือ เจ้าคุณพิมพ์ เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา และรองเจ้าคณะภาค 7 หรือผู้ริเริ่มสร้างโปรแกรมสมณศักดิ์ที่คณะสงฆ์ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเป็นผู้รวบรวมทำเนียบสมณศักดิ์ฉบับสมบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า การสถาปนาองค์ใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ จะใช้พระนามสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" ทั้งนี้ แล้วแต่ทรงจะพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี