รายงานพิเศษ : ฝึก “อาชีพเสริม” เติม “ทักษะชีวิต” ที่ รร.นครราชสีมาปัญญานุกูล
นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างพื้นฐานอาชีพแก่ “เด็กบกพร่องการได้ยิน”
กว่าร้อยละ 70 ของเด็กนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินของ “โรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล” ส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา ก็จะออกไปใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพร่วมกับครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยที่เรียนต่อไปในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นการพัฒนา “ทักษะอาชีพ” เพื่อเพิ่มพูน “ทักษะชีวิต” จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะในด้านวิชาการต่างๆ
และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาที่มุ่งเน้นไปสู่การมีอาชีพ “นางสายสมร เพชรอยู่” ครูผู้ได้รับรางวัล “ทุนครูสอนดี” จึงได้ต่อยอดวิชาการงานอาชีพพื้นฐานที่มีอยู่ ด้วยการนำ “ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่น” ของเมืองย่าโม และอาชีพใหม่ๆ ที่น่าสนใจในปัจจุบัน มาใช้ฝึกทักษะอาชีพเสริมให้กับเด็กๆ ผ่านโครงการ “พัฒนาทักษะอาชีพของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน”ภายใต้ “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือสสค. เพื่อให้เด็กที่บกพร่องทางการยินตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ได้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพต่างๆ และสามารถขยายผลไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตนเองอย่างยั่งยืนเมื่อจบการศึกษาออกไป
ทั้งนี้เนื่องจากเด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน สามารถอยู่ร่วมในสังคมและสื่อสารกับคนปกติได้ด้วยการใช้ภาษาเขียนและภาษามือ แต่ปัจจัยสำคัญในการที่จะให้เด็กกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขก็คือ ทักษะและความสามารถในการที่จะพึ่งพาตัวเองในด้านต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “ทักษะอาชีพ” ที่จะช่วยให้เขาสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองเมื่อออกไปสู่สังคมภายนอกได้
“เพื่อที่จะให้เขาสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และสามารถนำอาชีพที่ฝึกสอนไปประกอบอาชีพได้ จึงได้นำ 4 อาชีพที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย อาชีพการประดิษฐ์ตกแต่งดอกไม้สวยด้วยมือหนู อาชีพเพ้นท์เล็บ อาชีพหมี่โคราชแบบครบวงจร และอาชีพเบเกอรี่ มาฝึกสอนให้กับเด็กๆ เพราะแต่ละอาชีพสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง มีตลาดรองรับ ลงทุนไม่มากนัก และมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตของเด็กกลุ่มนี้มากที่สุด” ครูสายสมรกล่าว
ในแต่ละอาชีพอย่าง “เพ้นท์เล็บ” หรือ “ประดิษฐ์ดอกไม้” ก็จะมีการประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกสอนให้กับทั้งตัวครูและเด็กนักเรียนจนเกิดความชำนาญ นอกจากนี้ในเรื่อง “เบเกอรี่” คณะครูก็ต้องลงทุนไปเรียนด้วยตัวเอง ก่อนที่จะนำความรู้กลับมาสอนให้กับเด็กๆ รวมไปถึงใช้กระบวนการ “พี่สอนน้อง” ช่วยถ่ายถอดความรู้จากครูและรุ่นพี่ไปสู่น้องๆ
โดยเฉพาะในเรื่องของ “หมี่โคราช” ได้มีการพาเด็กๆ ไปเรียนรู้และฝึกงานกับโรงงานผลิต เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่กรรมวิธีการผลิตเส้น การทำเส้นสำเร็จรูป การทำน้ำปรุงรสสำเร็จรูป จนสามารถผลิตเป็นเส้นหมี่สำเร็จรูปพร้อมปรุง “หมี่โคราชเด้อค่ะ” ภายใต้แบรนด์ของโรงเรียน นอกจากนี้คณะครูยังช่วยกันคิดค้นพัฒนาสูตรและพลิกแพลงให้หมี่โคราชนั้นออกมาเป็นเมนูใหม่ๆ อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ เส้นหมี่สปาเก็ตตี้, เส้นหมี่ยำ, หมี่ผัดผักกระเฉดฯลฯ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับผู้บริโภค และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย
ด.ญ.ขวัญฤดี อ้นสุข หรือ “น้องขวัญ” อายุ 15 ปี นักเรียนชั้น ม.1 บอกเล่าผ่านภาษามือและแววตาที่มีความสุขว่า ชื่นชอบการทำเบเกอรี่มาเป็นพิเศษ เพราะได้ทดลองทำขนมหลากหลายชนิด แต่ละครั้งก็ต้องมาลุ้นว่าขนมที่ออกจากเต้าหน้าตาจะเป็นเหมือนที่คิดไว้หรือเปล่า
“เรียนครั้งแรกก็ยากหน่อย เพราะขนมแต่ละชนิดมีสูตรและส่วนผสมที่แตกต่างกัน ต้องจำสูตรให้ได้ทั้งหมดและมีอุปกรณ์เยอะ แต่พอทำๆ ไปก็รู้สึกสนุกจนมีความคิดที่อยากจะเรียนต่อด้านคหกรรม หรือวิทยาศาสตร์การอาหาร เพราะในอนาคตก็อยากจะเปิดร้านเบเกอรี่เป็นของตัวเอง” น้องขวัญกล่าว
ด้านรุ่นพี่ชั้น ม.6 ที่มีหัวทางศิลปะ น.ส.วรรณิสา ท่าแก่น หรือ “น้องสอง” อายุ 20 ปี เล่าผ่านล่ามภาษามือว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบงานศิลปะอยู่แล้ว จึงมีความสนใจเรื่องของอาชีพเพ้นท์เล็บมากเป็นพิเศษ เพราะสนุก ทำได้ง่าย สามารถออกแบบสีสันลวดลายให้สวยงามได้ด้วยตัวเอง
“เพ้นท์เล็บเป็นงานที่ไม่ยาก หากทำได้แล้วก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ทันที ลงทุนไม่มาก ทำที่บ้านหรือตามตลาดนัดก็ได้ ทุกวันนี้เวลาหลังเลิกเรียนก็จะมีเพื่อนๆ มาช่วยให้เพ้นท์เล็บให้ถึงบนหอพัก ทำให้คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่จะเปิดร้านเป็นของตัวเองเมื่อเรียนจบ แต่ตอนนี้ความตั้งใจคืออยากจะเรียนต่อปริญญาตรีเอกการศึกษาพิเศษ เพื่อจะได้มาเป็นครูช่วยดูแลน้องๆ” น้องสองกล่าว
และเพื่อเป็นการต่อยอดขยายผลให้เกิดความยั่งยืน“ครูสายสมร” กล่าวว่า ผู้บริหาร รร.นครราชสีมาปัญญานุกูล ยังมีแนวคิดที่จะเปิดร้านจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโครงการบริเวณด้านหน้าโรงเรียน รวมไปถึงประสานกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ในการช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ฝีมือของเด็กๆ โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อย่าง คุ้กกี้ เค้ก และขนมต่างๆ ก็มียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เสริมในยามเรียนให้กับเด็กๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และกำลังใจการที่จะออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้อีกด้วย
“เด็กที่พิการทางการได้ยิน ถึงหูเขาไม่ได้ยิน แต่ก็ไม่ได้เป็นขีดจำกัดในด้านความคิดสร้างสรรค์ อย่างงานดอกไม้สวยด้วยมือหนู เพ้นท์เล็บ ผัดหมี่ หรือ เบเกอรี่ เขาก็สามารถทำได้โดยไม่มีขีดจำกัดเหมือนคนปกติ และบางครั้งก็ทำได้ดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป” ครูสายสมรระบุ
ซึ่งการดำเนินโครงการนี้ “ครูสายสมร” วาดหวังเพียงอยากให้ลูกศิษย์ทั้งกลุ่มนี้และกลุ่มต่อๆ ไป ได้มาเรียนรู้และฝึกฝนทักษะอาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ช่วยเหลือครอบครัวได้ และไม่เป็นภาระต่อสังคม
“เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ถ้าเขาได้รับการสนับสนุนจากคนปกติ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าเรารู้จักและเข้าใจเขาแล้ว เขาก็จะไม่เป็นภาระให้กับเราเลย อีกอย่างหนึ่งคนพิการเขาไม่ได้ต้องการเป็นฝ่ายรับจากคนปกติเพียงอย่างเดียว เขามีการให้กับคนอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน อย่างสิ่งต่างๆ ที่เขาเรียนรู้ตรงนี้เขาก็มีโอกาสที่จะไปถ่ายทอดความรู้ให้คนอื่น หรือโรงเรียนอื่นๆ ที่มาศึกษาดูงาน เราก็ยังได้นำเด็กกลุ่มนี้มาเป็นวิทยากร ซึ่งเขาก็สามารถช่วยเราได้เหมือนกับคนปกติ” ครูสายสมรกล่าวสรุป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี