สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) หรือ สมศ. เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมา เพื่อให้มีส่วนช่วยให้สถาบันการศึกษาทุกระดับมีการจัดระบบการศึกษาที่ได้คุณภาพมาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นสำคัญ หากแต่ยังมีสถาบันการศึกษาอีกไม่น้อย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษา ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ สมศ. โดยมีการกล่าวหาว่า เป็นการสร้างภาระ และแย่งเวลาสอนหนังสือของเด็กนักเรียนไป ดังที่เป็นข่าวอยู่ตามหน้าสื่อสารมวลชนต่างๆ
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผอ.สมศ. จึงได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทหน้าที่ การทำงานของ สมศ. ที่มีต่อระบบการศึกษาของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม โดยเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2554-2558
ตามที่สถานศึกษามองว่า สมศ.แย่งเวลาการเรียนการสอนไปจากนักเรียนมีความเห็นอย่างไร?
คำถามนี้เป็นคำถามที่ สมศ. ถูกถามมาตลอด ซึ่งผมจะบอกกับเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ท่องไว้ในใจว่าเราเป็น “องค์การมหาชน” ต้องทำงานด้วยความกระชับ ฉับไว ได้ผลมีประสิทธิภาพ จึงได้ปรับวิธีการทำงานของ สมศ. ใหม่โดยยึดปรัชญาว่า ก้าวข้ามขีดจำกัดสู่สหัสวรรษแห่งคุณภาพ ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอุปสรรคอะไร เราต้องข้ามไป เพื่อให้พร้อมที่จะทำงาน ส่วนปณิธานขององค์กร แต่เดิมคือ ประเมินเพื่อพัฒนา แต่จากนี้ไปจะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา...อย่างต่อเนื่อง เพราะพบว่าสถานศึกษาหลายแห่ง สมศ. ไปประเมินช่วงไหน ก็ทำแค่ในช่วงนั้น พอประเมินเสร็จทุกคนก็หยุดทำ รอเวลาประเมินรอบใหม่ ทำให้การพัฒนาคุณภาพขาดการต่อเนื่อง ไม่เกิดเป็นวิถีคุณภาพ พร้อมกับได้ปรับวิสัยทัศน์เป็น 3 ช. คือ คงความเชี่ยวชาญขององค์การ เพิ่มความเชื่อมั่นของประชาคม สร้างความเชื่อใจให้ประชาชน
สถานศึกษาและบุคคลภายนอกยังเข้าใจว่า สมศ. มีหน้าที่ยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทย จริงไหม?
สมศ. ทำหน้าที่หลักคือ พัฒนาเครื่องมือ เกณฑ์ วิธีการประเมินภายนอก พัฒนาผู้ประเมิน พัฒนาระบบ และทำการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐาน สมศ. ไม่มีหน้าที่ในการพัฒนาสถานศึกษาโดยตรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ สมศ. เป็นเพียงกระจกสะท้อนภาพให้เห็นถึงคุณภาพทั้งระบบการศึกษารายงานให้กับกระทรวงศึกษาธิการได้ทราบ พร้อมได้จัดทำข้อเสนอแนะในเชิงการพัฒนาเสนอต่อทั้งในระดับสถานศึกษา ระดับต้นสังกัด และภาครัฐ จะเป็นการใช้ผลการประเมิน และของ สมศ. ไปใช้กำหนดนโยบายการพัฒนาสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น
ความพร้อมของสถานศึกษาที่จะถูกประเมินคุณภาพโดย สมศ.?
จากการประเมินพบว่าสถานศึกษาแบ่งได้ 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สถานศึกษาระดับเวิลด์คลาส เป็นกลุ่มสถานศึกษาที่มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับนานาชาติ คุณภาพจัดอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งไม่ว่า สมศ. จะประเมินเมื่อไรพบว่ามีคุณภาพดีมากเสมอ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วงเลย ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมทุกเวลา หมายถึง ไม่ว่า สมศ.จะเข้าประเมินวันเวลาใด กลุ่มนี้จะพร้อมตลอดเวลา มักเป็นกลุ่มที่มีความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อการประเมินคุณภาพการศึกษา ผลประเมินอยู่ในระดับดี และรอเวลาพัฒนาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มดีมาก หากมีกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น จะเป็นสัญญาณบอกที่ดีได้ว่าสถานศึกษามีคุณภาพมากขึ้น กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่ต้องนัดหมายเวลาที่จะเข้าไปประเมิน กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ต้องการเวลาเพื่อปลูกผักชี จะเป็นที่อยู่ในระดับคุณภาพพอใช้ และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ไม่พร้อมประเมิน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงเพราะไปประเมินเมื่อไรก็ไม่ผ่าน และมักจะมีข้ออ้างว่า การที่ สมศ. ไปประเมินสถานศึกษาทำให้แย่งเวลาครูไปจากนักเรียน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ สมศ.ไปประเมินอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุก 5 ปี โดยใช้เวลาในการประเมิน 3 วัน เป็นข้อสังเกตให้เห็นว่าเวลาทำงานทั้งหมดตลอดสี่ปีกับอีกสามร้อยหกสิบสองวัน มีการบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างไร แสดงให้เห็นถึงการขาดวิถีชีวิตคุณภาพ ไม่มีการเก็บสะสมรวบรวมผลงานที่ต่อเนื่อง ก็คือ ไม่มีวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณภาพ พอ สมศ.จะไปประเมินจึงมาเร่งรีบทำในช่วงก่อน สมศ. เข้าประเมิน ส่งผลกระทบต่อเวลาจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มที่ไม่พร้อมตลอดเวลา
สถานศึกษาในกลุ่มที่ต้องนัดหมายเวลา และกลุ่มไม่พร้อมประเมิน มีวิธีแก้ไขอย่างไร?
นอกจาก สมศ. มีการพัฒนาเครื่องมือประเมิน และพัฒนาผู้ประเมินของ สมศ. ให้มีประสิทธิภาพแล้ว ในการบริหารจัดการภายใน สมศ. ก็มีข้อจำกัดภายใต้จำนวนบุคลากรที่มีจำนวนไม่สมดุลกับจำนวนสถานศึกษาทั้งประเทศที่มีกว่า 60,000 แห่ง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้สถานศึกษาที่อยู่ในสองกลุ่มสุดท้ายนี้สามารถปรับปรุงพัฒนาเพื่อให้ผ่านการประเมิน สมศ. จึงได้จัดทำโครงการ 1 ช่วย 9 ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ สมศ.พยายามจะหาวิธีลดปัญหาความไม่พร้อมที่จะถูกประเมิน โดยการให้สมัครสถานศึกษาที่อยู่ในระดับดีมากมาเป็นอาสาสมัครช่วยอีก 9 สถานศึกษา โดยเริ่มดำเนินการมาได้ 3 ปีแล้ว มีสถานศึกษาที่เป็นพี่เลี้ยงอยู่ 207 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และมีสถานศึกษาเครือข่ายรวม กว่า 2,000 แห่ง ซึ่งหลายแห่งมีคุณภาพที่ดีขึ้น และอีกแห่งกำลังพัฒนาให้ดีขึ้น โครงการนี้ถือว่า สมศ. จัดทำขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ตอนนี้ สมศ. ได้ขยายโครงการไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยกันพัฒนาสถานศึกษาในพื้นที่โดยรอบสถานประกอบการ ซึ่ง สมศ. ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จโครงการนี้จะขยายผลมากขึ้น
รองนายกรัฐมนตรี พงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะกำกับดูแล สมศ. ได้ให้นโยบายอย่างไรบ้าง ?
จากการที่ สมศ. จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชน ทำงานปิดทองหลังพระเพื่อการศึกษาของชาติ ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติร่วมประชุมกรรมการบริหาร สมศ. และได้ให้กำลังใจและชื่นชม สมศ. ถึงการทำบทบาทหน้าที่การประเมิน จะช่วยทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ว่า คนของประเทศไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นคนมีคุณภาพและเป็นที่ต้องการ และได้แสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมการบริหาร สมศ. ทุกท่านที่ได้เสียสละเวลามาทำงานตรงนี้ ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางการด้านศึกษา ท่านได้แสดงความรู้สึกเชื่อมั่นว่า สมศ. จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการทำงานท่านอยากเห็นความร่วมมือที่ชัดเจนระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ สมศ. คือ กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่พัฒนา ขับเคลื่อนและปฏิรูปการศึกษา การประเมินของ สมศ. ทำหน้าที่ประเมินให้การทำงานของกระทรวงบรรลุถึงเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งจะต้องให้มีความสอดคล้องกัน และอยากให้ สมศ. พัฒนาตัวบ่งชี้และทำการประเมินที่ช่วยลดเวลาการทำงานของทั้ง สมศ. ในฐานะผู้ประเมิน และสถานศึกษาในฐานะผู้ถูกประเมิน ซึ่งขณะนี้ สมศ. ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือการประเมินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดทอน ขจัดอุปสรรคต่างๆ ให้หมดไป
ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ได้ประโยชน์อะไรจากการประเมิน ของ สมศ.?
อย่างที่บอกไปตอนต้นแล้วว่า การประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษาก็เพื่อสร้างสถานศึกษาที่ได้คุณภาพมาตรฐาน และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสถานศึกษาที่คุณเลือกศึกษาต่อนั้นได้มาตรฐานมีคุณภาพ เมื่อคุณเข้าไปศึกษาแล้วย่อมได้ความรู้ที่มีคุณภาพเช่นกัน ประโยชน์ที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง นักเรียน นิสิต และนักศึกษา สามารถใช้ประโยชน์จากการผลประเมินไปใช้ตัดสินใจเลือกสถานศึกษา ซึ่ง สมศ. เผยแพร่ข้อมูลผลประเมินทางเว็บไซต์ สมศ. อย่างน้อยจะช่วยลดปัญหาว่าอนาคตจะไม่ประสบกับกรณีจบการศึกษาแล้ว กระทรวงศึกษาธิการไม่รับรองผลการเรียน และถูกลอยแพ ไม่สามารถสมัครงานหรือเรียนต่อได้ ซึ่งปัจจุบันนี้จะพบเห็นได้มากขึ้น
สำหรับ แผนการดำเนินงานในอนาคตของ สมศ. นั้น ขณะนี้ สมศ. ได้พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ. 2559-2561) ซึ่งจะมีการประกาศตัวบ่งชี้ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ “การประกันคุณภาพการศึกษา” พ.ศ. 2556 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมได้ โดยลงทะเบียนล่วงหน้าที่ www.onesqa.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.02-2163955
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี