จังหวัดสงขลา คือเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่าง เป็นเมืองหน้าด่าน ที่ติดกับประเทศมาเลเซีย ด้านรัฐเคดาห์ และรัฐเปอร์ลิส มีสถานกงสุลใหญ่ของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งอยู่ สงขลาจึงเป็นเมืองแห่งศูนย์การการคมนาคม การศึกษา เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ดังนั้นการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นเสมือนประตูสู่อาเซียน และเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่าง จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาในทุกด้าน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา หรือ อบจ.สงขลา คือส่วนหนึ่งของกลไกในการขับเคลื่อนด้วยการนำพาจังหวัดสงขลา ไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น ต้องฟัง แนวคิด และนโยบายของ นิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา ต่อการก้าวย่าง เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปี ข้างหน้า
นายนิพนธ์กล่าวว่า จังหวัดสงขลา และภาคใต้ตอนล่างนั้นมีจุดแข็งอยู่ในตัวเอง นั่นคือการที่ประชากรส่วนหนึ่งเป็น “มุสลิม” ซึ่งสอดคล้องกับประชากรในประชาคมอาเซียน ที่มีมุสลิมอยู่ถึง 300 กว่าล้านคน ดังนั้นสิ่งแรกๆ ที่ อบจ.รวมทั้งหน่วยอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างดำเนินการไปแล้ว คือ การจัดการศึกษาโดยเน้นการใช้หลักสูตรภาษามลายู หรือ “บาฮาซาห์” ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มประชาคมอาเซียน ในส่วนของ อบจ. ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอนเสริมให้กับสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งจัดโครงการให้กับนักธุรกิจ กลุ่มผู้ประกอบการค้า-ขาย กลุ่มการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านของภาษา และล่าสุด อบจ.สงขลา ได้ทำเอ็มโอยู กับโรงเรียนคุณธรรม หาดใหญ่ เพื่อให้เปิดการสอน 4 ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ มลายู และจีน
การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน จะส่งผลทางด้านบวกกับการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา เนื่องจากสงขลาเป็นเมืองหน้าด่าน และมีทุกอย่างที่เป็นเลิศ ทั้งเรื่องอาหารอร่อย ราคาไม่แพง มีสถานที่ท่องเที่ยงทางธรรมชาติ ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งทะเลที่สวยงาม น้ำตก และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในส่วนของการท่องเที่ยวที่เป็นเรื่องด้านบันเทิง แสงสี มีพร้อมไว้รองรับ เช่น กลุ่มผู้นิยม แสงสียามค่ำคืนในย่านบันเทิง มีอยู่ที่เมืองจังโหลน ด่านนอก อ.สะเดา ชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัว ต้องการพักผ่อน ทานอาหารอร่อย และช็อปปิ้ง สถานที่ดังกล่าวคือ อ.หาดใหญ่ ซึ่งวันนี้คือศูนย์การค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุด
ขณะนี้ อบจ.สงขลา อยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดสายการบินโลว์คอตส์ระหว่าง หาดใหญ่-เมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซีย ที่เข้ามาเที่ยวยังจังหวัดสงขลา มีมากขึ้นทุกขณะ แต่ยังไม่มีสายการบิน เพื่อให้มีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งการเปิดเส้นทางบินอื่นๆ ให้เกิดขึ้น
นายนิพนธ์กล่าวว่า นอกจากเรื่องของจุดแข็งในการท่องเที่ยว ที่จังหวัดสงขลาจะได้รับประโยชน์จากการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนแล้ว จุดแข็งที่เป็นต้นทุน ของจังหวัดสงขลา อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง เศรษฐกิจการค้า การลงทุน เนื่องจาก จังหวัดสงขลา มีการส่งออกของสินค้าเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ โดยด่านศุลกากร อ.สะเดา มีปริมาณการส่งออกสินค้า 3 แสนกว่าล้าน ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ 2 แสนกว่าล้านและท่าเรือน้ำลึกสงขลาอีกว่า 3 แสนล้านต่อปี รวมทั้งจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่แห่ง พลังงาน เพราะมีโรงงานแยกก๊าซ และโรงผลิตไฟฟ้าที่ อ.จะนะ ในขณะที่ในอ่าวไทยในพื้นที่จังหวัดสงขลา เต็มไปด้วยฐานเจาะขุด พลังงาน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งมองเห็นว่า สามารถที่จะดันนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาร่วมลงทุน เพราะจีนเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการลงทุนมากที่สุด สิ่งที่ต้องการที่จะเห็น ไม่ใช่แค่เป็นประชาคมอาเซียน แต่ต้องการผลักดันให้เกิด อาเซียน บวก 3 ขึ้น นั้นคือ จีน ญีปุ่น และ เกาหลี
วันนี้ต้องมองไปถึงอนาคต ที่จังหวัดสงขลา จะได้จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่นวันนี้ ท่าเรือน้ำลึกสงขลาฝั่งอ่าวไทย ซึ่งต้องการที่จะเชื่อมต่อกับท่าเรือฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดสตูล แต่เมื่อมีปัญหาการคัดค้านของประชาชน จนขณะนี้โครงการท่าเรือเชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ยังไม่นิ่ง จึงน่าจะผลักดันโครงการเชื่อมท่าเรือสงขลากับท่าเรือปีนัง ของประเทศมาเซีย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการค้าการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ในอนาคต
ส่วนปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ ซึ่ง อบจ. ได้ดำเนินการร่วมกับจังหวัด บก.ภ.จว.สงขลา และเทศบาลนครหาดใหญ่ คือเรื่องของปัญหาจราจร ที่มีความแออัด ที่มีการร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนน มีตั้งแต่การใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อผู้ไม่เคารพกฎจราจร มีการสร้างวินัย สร้างสำนึกให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน มีการให้เทศบาลนครหาดใหญ่สำรวจเส้นทาง เพื่อเป็นทางลัด ทางสำรอง ในชั่วโมงเร่งด่วน และนโยบายการสร้าง “โมโนเรล” ซึ่งเป็น นโยบายของ อบจ.สงขลา ที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจเส้นทางของ “โมโรเรล” ที่จะทำให้การจราจรในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่สามารถเชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองคอหงส์ และเทศบาลเมืองคลองแหในอนาคต
นายนิพนธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนนั้น เราจะหวังที่จะได้อะไรที่เป็นของเราเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ทั้งหมดในประชาคมอาเซียนจะได้ด้วยกัน และการขับเคลื่อนของประชาคมอาเซียนนั้น จะประกอบด้วยเรื่อง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวิถีชีวิต เมื่อมีการได้ประโยชน์ ก็ย่อมมีการเสียประโยชน์ และการตามมาของปัญหาต่างๆ ซึ่ง อบจ.สงขลา และหน่วยงานของภาครัฐ และเอกชน ได้มีการจับมือกัน เพื่อที่จะได้ประโยชน์ และการป้องกันการเสียประโยชน์ และปัญหาที่จะตามมาอย่างครอบถ้วน กล่าวได้ว่า ณ วันนี้ จ.สงขลา มีความพร้อมในทุกประกาศ ที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน อย่างเต็มตัว
ปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี