รายงานพิเศษ : กรมการข้าวส่งเสริมชาวนาภาคเหนือปลูกข้าวญี่ปุ่น
เจาะตลาดอาเซียน พร้อมเล็งวิจัยพันธุ์ใหม่เพิ่ม
ปัจจุบันธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงมาขึ้นเรื่อยๆ ตลาดข้าวญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดเฉพาะมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีการทดลองเพาะปลูกข้าวญี่ปุ่นครั้งแรกที่สถานีทดลองข้าวพาน จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2507 และเมื่อปี 2538 ได้ออกเป็นพันธุ์แนะนำ จำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ ก.วก.1 (Sasanishiki) และ ก.วก.2 (Akitakomashi) ทำให้มีการส่งเสริมการเพาะปลูกสู่ภาคเกษตรกร
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบันมีภาคเอกชน มากกว่า 10 ราย ดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวญี่ปุ่นในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ประมาณ 80,000 ไร่ต่อปีในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และได้รวมตัวกันจัดตั้งชมรมขึ้นใช้ชื่อว่า “ชมรมผู้ผลิตข้าวญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย” สามารถผลิตข้าวเปลือกได้ปีละกว่า 60,000 ตัน (ผลผลิตเฉลี่ย 750 กิโลกรัมต่อไร่) หรือประมาณ 36,000 ตันข้าวสาร แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการและต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศทุกปี
ดังนั้น กรมการข้าวจึงมีนโยบายให้การส่งเสริมให้ข้าวญี่ปุ่นเป็นพืชทางเลือกหนึ่งของชาวนาภาคเหนือ นอกจากเป็นข้าวที่มีราคาสูงแล้ว ยังสามารถเพาะปลูกได้ทั้งฤดูนาปี นาปรังในเขตชลประทาน และมีตลาดรองรับทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2558
ล่าสุด ศูนย์วิจัยข้าวเชียงรายจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนข้าวญี่ปุ่นเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น และจะเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ได้ 800 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้ภาคเอกชนนำไปส่งเสริมอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น ทั้งการปลูกข้าวญี่ปุ่นเพื่อขายโรงสี และเพื่อขายเป็นเมล็ดพันธุ์ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่า ทำให้เกษตรมีรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“กรมการข้าวได้เข้ามากำกับดูแลการผลิตเมล็ดพันธุ์ไห้ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้น จึงได้เมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่ได้มาตรฐานตรงตามพันธุ์ มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีเหมือนข้าวญี่ปุ่นพันธุ์แท้ที่ปลูกในประเทศญี่ปุ่น และคุณภาพดีกว่าข้าวญี่ปุ่นที่นำเข้าจากประเทศใกล้เคียง และในอนาคตประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะย้ายฐานการผลิตข้าวในต่างประเทศที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำ จุดนี้จะทำให้เราได้เปรียบที่จะเป็นฐานการผลิตหากสามารถผลิตได้ตามปริมาณตามต้องการและคุณภาพ โดยเฉพาะคุณภาพการหุงต้ม ซึ่งผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ดังนั้นเพื่อการผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่นจึงต้องมีเครื่องทดสอบรสชาติของข้าวที่เรียกว่า Rice Tester Machine” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
นายชาญพิทยากล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับแผนในระยะยาว กรมการข้าวมีโครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นให้เหมาะสมสำหรับสภาพแวดล้อมในเขตภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เนื่องจากพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่มีอ่อนแอต่อโรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว ซึ่งการวิจัยปรับปรุงพันธุ์นี้จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 นอกจากนั้นแล้วยังผลักดันให้เกษตรกรผลิตข้าวญี่ปุ่นตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) และระบบเกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี