กมธ.ยกร่างฯไฟเขียว
เลือกตั้งผู้ว่าฯ
ให้ประชามติแก้รธน.
เปิดทางต่อต้านคนล้มปชต.
‘บิ๊กตู่’เล็งใช้ม.44ปฏิรูปปท.
ชี้คนมารับไม้ต้องรู้มากกว่า
เมื่อวันที่ 16 มกราคม มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯเป็นประธาน ซึ่งได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามการเสนอของคณะอนุกมธ.พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯเป็นประธาน ต่อเนื่องเป็นวันที่ห้า โดยเข้าสู่บทบัญญัติรายมาตราภาค2 ว่าด้วยผู้นำทางการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวด2 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งมีร่างรายมาตราตามที่ อนุ กมธ.ยกร่างฯ เสนอรวม 16มาตราและกมธ.ยกร่างฯเสนอเพิ่มเติม 3มาตรา
พิจารณารธน.แล้ว90มาตรา
ต่อมา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯแถลงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า เสร็จสิ้นแล้ว 90มาตราในบททั่วไป ภาค1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด1 พระมหากษัตริย์ หมวด2 ประชาชน ส่วนที่1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง ส่วนที่2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ส่วนที่3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่วนที่4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ซึ่งกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเสร็จตามกรอบที่กำหนดไว้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในภาค3 นิติธรรม ศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ปชช.ลงประชามติแก้รธน.ได้
ทั้งนี้ การยกร่างฯในหมวด2 ประชาชน ส่วนที่3 การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญในอดีต คือ กำหนดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ย่อมมีส่วนร่วมตัดสินใจโดยการลงประชามติในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้มีการออกเสียงประชามติเนื่องจากเป็นเรื่องที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือประชาชน หรือในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พร้อมกำหนดให้พลเมืองย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้มาตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
เอกชนใช้เงินรบ.ให้แจงค่าใช้จ่าย
สำหรับในส่วนที่4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมีการวางหลักการใหม่ คือ ให้องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดยใช้เงินแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อให้พลเมืองได้ติดตามและตรวจสอบ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติและให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 2หมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อประธานวุฒิสภา โดยการถอดถอนแบ่งอออกเป็น 2ส่วนคือ กรณีที่ยังไม่พ้นจากตำแหน่งเรียกว่า ถอดถอนจากตำแหน่ง แต่กรณีที่พ้นตำแหน่งไปแล้วเรียกว่า ตัดสิทธิ์ทางการเมือง
ต้องกระจายอำนาจ-เล็งลต.ผู้ว่า
ส่วนในภาค2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง หมวด2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มีการกำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจและจัดภารกิจ อำนาจหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตตามความพร้อมของจังหวัดนั้นๆ นอกจากนี้ยังกำหนดว่า การจัดทำบริการสาธารณะใดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือบุคคล สามารถดำเนินการได้ โดยมีมาตรฐาน คุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ รัฐต้องกระจายภารกิจดังกล่าวให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หรือเอกชนดังกล่าวดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสมจากรัฐ
“ผู้ตรวจ”ชงเพิ่มอำนาจตัวเอง
ด้าน นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้ตรวจราชการแผ่นดินได้ทำข้อเสนอไปยังกมธ.ยกร่างฯประมาณ 6-7ข้อ เรื่องหลักๆคือขอเพิ่มอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งความเห็นไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่กลับเพิกเฉย ดังนั้นหากหน่วยงานไม่ดำเนินการภายใน 90วัน ต้องให้หน่วยงานทำหนังสือชี้แจงว่า มีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหา แต่หากหน่วยงานเพิกเฉยถือเป็นความผิดทางวินัย เหมือนกรณีการกระทำขัดมติ ครม.เป็นต้น
เผยถกร่วม’รบ.-สปช.’ราบรื่น
ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช. (วิปสปช.) แถลงผลการประชุมระหว่างตัวแทนรัฐบาล นำโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเย็นวันที่ 15มกราคมที่ผ่านมา ว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยรองนายกฯ ได้กล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ของ สปช.ว่า ดีมากกว่าที่คิด
นายกฯพร้อมใช้ม.44ปฎิรูปปท.
นอกจากนี้ นายกฯยืนยันจะสนับสนุนการทำงานของสปช.อย่างเต็มที่และพร้อมจะใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว2557 มาตรา44 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อเสนอปฏิรูปให้เกิดความสำเร็จ อีกทั้งเห็นว่า ที่ประชุมสปช.ปัจจุบันของสปช.อาจจะคับแคบไป จึงมีข้อเสนอให้ใช้สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นสถานที่ประชุมของคณะกรรมาธิการ เพื่อรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ 200คนด้วย
“บิ๊กตู่”ลั่นคนรับไม้ต่อต้องรู้มากกว่า
วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสงานวันครู2558 ว่างานสำคัญของประเทศก็คือ งานทรัพยากรมนุษย์ ผู้ที่มีสิทธิ์ต้องเข้าใจว่า การเมืองเป็นอย่างไร การบริหารราชการแผ่นดินต้องรู้หลายเรื่อง ตนไม่ได้เรียนอะไรมาเลย แต่ก็ต้องรู้ ดังนั้นใครจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อไปต้องรู้มากกว่าตน อย่าไปเลือกที่มันเคยเลือกมา ตอนนี้ก็เห็นว่า จะเลือกตามแบบประเทศนั้นประเทศนี้ แล้วใครจะมาให้เลือก วันนี้อยากให้ประชาชนเป็นผู้เริ่มต้นว่า ต้องการนักการเมืองอย่างไร ดูแลคน ดูแลชาติบ้านเมืองอย่างไร อย่าไปเลือกญาติพี่น้องกลุ่มเก่า ไม่ใช่ว่าเลือกแต่คนรู้จักดีกว่า วันนี้เราต้องให้นักการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ออกมาให้ได้ว่า จะบริหารประเทศอย่างไร
วอนทุกภาคส่วนแจ้งพบทุจริต
เวลา 20.15น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ’คืนความสุขให้คนในชาติ’ออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ของ คสช.ครั้งที่1 เมื่อวันที่ 14มกราคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลทราบดีว่าประชาชนห่วงใยปัญหาคอร์รัปชั่นและอยากเห็นคดีทุจริตต่างๆมีข้อยุติโดยเร็ว ซึ่ง คสช.และรัฐบาลกำลังเร่งรัดติดตามความคืบหน้าคดีทุจริตคอร์รัปชั่นหลายคดีที่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติให้ได้ข้อยุติโดยเร็วและประชาชนทุกคนต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส โดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องช่วยสื่อให้สังคมทราบถึงการกระทำผิดด้วย
ย้ำถอดนักการเมืองยึดกฎหมาย
สำหรับการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ สนช.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ขอทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนว่า การที่จะทำผิดกฎหมายนั้นต้องแยกแยะ ปนกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผิดถูกอย่างไร ถูกจริยธรรมหรือไม่ถูกอย่างไร ผิดกฎหมายอย่างไรก็ว่ากันมา จะมีกฎหมายที่ผิดทั้งอาญาและแพ่ง หรือผิดทางการเมือง ตรงนี้สังคมต้องแยกแยะ อย่าให้ใครมาปลุกระดมให้เกิดความไม่เข้าใจกันอีก ต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี