กรธ.จับแขวน-จ้องหั่นทิ้ง
นายกฯม.7
สกัดกระทบพระราชอำนาจ
ถึงทางตันให้ศาลรธน.ชี้ขาด
ติดดาบปปช.สอยโคตรโกง
เปิดทางสอบ'ภาษี'ย้อนหลัง
'วิชา'ขอสิทธิ์ล้มประชานิยม
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมี นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการเปิดรับฟังความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อนำไปประกอบข้อมูลในการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ปปช.กล่าวถึงภาพรวมการทำงาน ปปช.ว่า อยากให้มีการเพิ่มเติมในเรื่องการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ เช่น การไต่สวนคดีทุจริต ควรเพิ่มคำว่า “ให้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานด้านการตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระ” อาทิ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน, อัยการสูงสุดและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้มีการบูรณาการส่งข้อมูลร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำและต้องมีการกำหนดกรอบเวลาร่วมกันให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน นอกจากนี้ อยากให้มีการเพิ่มกลไกการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ควรจะต้องมีการขยายไปถึง “เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่ง”โดยให้ยื่นต่อต้นสังกัดเพื่อเป็นการตรวจสอบในทุกระดับเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่มาจากประชาชน เช่น อบต.หรืออบจ.ก็ควรเปิดเผยเช่นกัน
‘ประชานิยม’ต้องคุมเข้มพิเศษ
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรการป้องกันการทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงนั้นพบว่า ปปช.มีปัญหาในการยับยั้งโครงการที่ส่อเค้าว่าทุจริต เพราะเมื่อเสนอความคิดเห็นต่อรัฐบาล แต่ควรให้มีผลในทางปฏิบัติ จึงเสนอว่าในโครงการประชานิยมจำเป็นจะต้องมี “หลักประกันความเสี่ยง” หาก ปปช.เสนอความเห็นไปแล้วและไม่ปฏิบัติตาม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สตง.และสำนักงบประมาณ ไม่ต้องอนุมัติวงเงินให้ไปดำเนินนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยที่ สตง.จะฟ้องศาลเองในคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญา ก็จะทำให้มีสภาพเป็น “ปปช.น้อย”ทั้ง ๆ ที่เรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ของ ปปช.ที่ดำเนินการอยู่แล้ว
ขอสิทธิ์ชี้มูลความผิดก่อนเสียหาย
ด้าน นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.กล่าวว่า ขอเสนอให้ ปปช.และกกต.สามารถตรวจสอบนโยบายโครงการประชานิยม ในช่วงการหาเสียงของพรรคการเมือง เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นนโยบายและไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปยับยั้งได้ จนเกิดความเสียหายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นมาตรการใหม่นี้หาก ปปช.และกกต.เตือนไปแล้วและหน่วยงานนั้นไม่ปฏิบัติตามก็จะมีสภาพถูกชี้มูลความผิดอย่างกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการคดีรับจำนำข้าว
แฉท้องถิ่นโกงจัดซื้อจัดจ้างเพียบ
นายวิชา กล่าวอีกว่า ปัญหาการทุจริตที่พบเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดกว่าร้อยละ60 คือการทุจริตในระดับท้องถิ่นที่รุนแรงมากจากการจัดซื้อจัดจ้างและการฮั้ว เพราะจับตรงไหนก็ทุจริต จึงอยากให้มี “หมวดท้องถิ่น” ต้องเข้มข้นกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ตั้งแต่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ปปจ.) ครบ 76จังหวัด เพราะจากการตรวจสอบเชิงลึกไปตรงไหนพบแต่การทุจริต มีการปกปิดข้อมูลมากมาย เพราะส่วนใหญ่ที่พบจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นนักการเมืองท้องถิ่นจะต้องส่งบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้มีการตรวจสอบ รวมทั้งผู้ที่ถูกถอดถอน หรือคนที่มีคดีเกี่ยวกับการทุจริต ก็ไม่ควรเสนอหน้าเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ ได้อีกต่อไป
“การทุจริตวันนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบายทั้งสิ้น เช่น การทุจริตคลองด่าน การจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม., การทุจริตยาและโครงการจำนำข้าว กรณีแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีกลไกตรวจสอบหรือสกัดตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่ง ปปช.และกกต.ต้องร่วมมือตรวจสอบตั้งแต่ต้น” นายวิชา กล่าว
กรธ.วางกรอบร่าง9หมวดสำคัญ
หลังการประชุม นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.แถลงว่า ที่ประชุมวางโครงสร้างร่างรัฐธรรมนูญไว้ 9สาระสำคัญ แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวด ประกอบด้วย 1.รูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 4.องคาพยพทางการเมือง (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) 5.ความสัมพันธ์และองคาพยพทางการเมือง 6.องค์กรอิสระ 7.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 9.บทเฉพาะกาล
จ้องหั่นมาตรา7-นายกฯคนนอก
นายอมร กล่าวอีกว่า ส่วนการลงรายละเอียดแต่ละมาตรา ล่าสุดที่ประชุมได้พิจารณาเสร็จสิ้น บททั่วไปแล้ว 6 มาตรา และหมวดพระมหากษัตริย์ 19 มาตรา โดยในบททั่วไป 6 มาตรา มีการบัญญัติมาตรา 7 เดิมไว้ในมาตรา 6 เกี่ยวกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญกรณีมีปัญหาที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ จากเดิมมีปัญหาการตีความที่กระทบต่อพระราชอำนาจ เพื่อให้ตัดสินปัญหาที่ไม่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นวางหลักการอาจจะให้ศาลรัฐธรรมนูญอุดช่องว่าง โดยกรณีที่รัฐธรรมนูญมีการบัญญัติไปไม่ถึง รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจมีการบัญญัติเพื่อเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้หลักการอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย เหมือนดังเช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา4 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เป็นเครื่องมือในการวินิจฉัย แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ อาจไม่ได้บัญญัติไว้เลย หรือนำรายละเอียดไปบัญญัติไว้ในศาลรัฐธรรมนูญแทน
ถ้าเกิดวิกฤต-ส่งศาลรธน.ตีความ
“ในมาตรา7 ที่มีข้อถกเถียงกันมาหลายสมัย ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์จนบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้จะอ้างมาตรานี้มาใช้ว่า เป็นไปตามราชประเพณี จนกลายเป็นที่มาของนายก ม.7 ดังนั้น กรธ.จึงมีการตั้งคำถามว่า ควรคงมาตรานี้ต่อไปหรือไม่ แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะบางส่วนเห็นว่า ให้คงไว้ บางส่วนให้คงไว้เฉพาะวรรคแรก ที่ระบุว่า เป็นไปตามราชประเพณี ส่วนวรรคอื่นๆให้ตัดออก แล้วให้ไประบุไว้ในมาตราอื่น โดยอาจให้มีองค์กรเข้ามารับผิดชอบ เช่น หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นในบ้านเมือง ต้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบ ซึ่งอาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติแขวนมาตรานี้ไว้ แต่แนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะตัดมาตรานี้ออก และคงไว้เพียงวรรคแรกเกี่ยวกับราชประเพณีเท่านั้น” นายอมร กล่าว
ติดดาบปปช.-ตั้งศาลคดีทุจริต
นายอมร กล่าวต่อว่า สำหรับการเข้าชี้แจงของ ปปช.ได้เสนอว่า ปปช.ควรมีเครื่องมือป้องกันการเกิดการทุจริต เพราะขณะนี้ ปปช.เหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่มีอำนาจไปดำเนินการ จึงต้องการให้ยักษ์มีกระบอง เพราะไม่อยากให้เกิดการทุจริตแล้วจึงแก้ปัญหา ซึ่งกรธ.ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองแบบที่ผ่านมา เพราะการถ่ายเททรัพย์สินในเครือญาติเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ กรธ.จึงเสนอให้ใช้มาตรการทางภาษี โดยการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5ปี ซึ่ง ปปช.อาจต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบเรื่องภาษีโดยเฉพาะ โดยที่ ปปช.อาจต้องเป็นพันธมิตรกับกรมสรรพากร นอกจากนี้ กรธ.ยังเสนอประเด็นที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยตั้งเอาไว้ เช่น ศาลตรวจสอบคดีทุจริต การควบรวมปปช.และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
‘บิ๊กป้อม’หนุนคปป.ปิดทางปฎิวัติ
มีความเห็นจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อแก้ปัญหาความแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า ต้องรอดู นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ซึ่ง คปป.จะมีหรือไม่นั้น ตนยังไม่ทราบ แต่มองว่า ต้องมีกลไกที่ทำให้ไม่ถึงทางตันและต้องเดินต่อไปในอนาคตได้ เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก ตนอยากให้ทุกเรื่องจบสักทีและอยู่กันอย่างเป็นสุขดีกว่า ไม่มีใครอยากเป็นใหญ่ทั้งนั้น รวมถึงตนด้วย
“ผมขอพูดตรงๆว่า ขอให้จบเสียทีเรื่องการปฏิวัติต่างๆ น่าจะพอกันได้แล้ว ต่อไปปัญหาทางการเมืองก็ต้องแก้ไขกันเอง ตามความคิดของผม อยากให้เป็นแบบนั้น คิดว่าทุกคนก็คงคิดแบบผมเหมือนกัน ทั้งนี้เป็นเจตนาของ คสช.ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น คนแพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ คนชนะก็ว่ากันไป ไม่ใช่ว่าแพ้แล้วก็ออกมา เพราะประชาชนที่ไม่รู้เรื่องก็จะเสียหายด้วย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ย้ำทุกฝ่ายต้องเดินตามโรดแมป
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พล.อ.ประวิตร ตอบว่า“เราต้องดำเนินตามโรดแมปให้ได้ เพราะคสช.ได้กำหนดชัดเจนแล้ว จะดีหรือไม่ดีอย่างไร ผมตอบไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานและแม่น้ำทุกสาย ต้องเดินทางโรดแมป คสช.ให้ได้ คสช.อยู่อีก 20เดือนอย่างช้าที่สุด ถ้าเร็วขึ้นก็ต้องว่ากันไป”
‘พท.’ชง10ข้อเสนอร่างรธน.
วันเดียวกัน พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง จุดยืนและข้อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาสำคัญโดยย่อดังนี้ 1.ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง 2.วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กร ตามรัฐธรรมนูญและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.สร้างดุลและระบบตรวจสอบ ที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วม 4.ไม่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่รังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง 5.มุ่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 6.ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด 7.ต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง 8.ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง 9.ต้องมีระบบกลไกควบคุมการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆและ10.รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี